ให้น้ำหนักผลประชุม FED
ภาพการลงทุนในเดือนม.คง ยังคงมีทิศทางที่ไม่ต่างจากเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการตอบรับในเรื่องของการลดดีกรีของความเข้มงวดทางการเงินของ FED
ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก็ได้ระบุชัดไปแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่เมื่อต้นไตรมาส4ปีที่แล้ว งั้นเรามาดูกันว่าเดือนที่ผ่านมามีปัจจัยอะไรบ้าง
มาเริ่มที่ การอ่อนค่าของเงิน USD ตลอดทั้งเดือน ซึ่งมีที่มาจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจทั้งตลาดแรงงานและเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ไม่ได้ปรับตัวสูงไปกว่าตลาดคาด รวมถึงการส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เหลือเพียงแค่ระดับ 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดทั้งเดือน และทำให้สินทรัพย์ที่มักแปรผันตรงกันข้ามกับเงินUSD ปรับตัวได้ดี อาทิเช่น Bitcoin ทองคำ และหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ จากเงิน USD ที่อ่อนค่านี้
เมื่อมาประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่มีข่าวดีเฉพาะตัว ได้แก่ การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การเปิดประเทศของจีน และการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของกนง.อีก 0.25% ทำให้ Fund flow ไหลเข้าตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้และหุ้นไทยในปีนี้ไปแล้วกว่า 4.5 และ 1.9 หมื่นล้านบาท(ตามลำดับ) ส่งผลให้เงินบาทเป็นสกุลเงินในเอเชียที่ปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในปีนี้
ถัดมาก็เป็นภาพการผลิต ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงคำสั่งซื้อที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูง ส่วนอีกด้านหนึ่งเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัวมากขึ้นในช่วงถัดไป ทำให้ผู้ผลิตชะลอการใช้กำลังการผลิตออกไปก่อน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
โดยในเดือนธ.ค.ปี 2565 หดตัวไปถึง 14.6% แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร โดยสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนมากที่สุดของไทย 5 อันดับแรก ต่างหดตัวกันถ้วนหน้า ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนการส่งออกไปประเทศหลักๆอย่างสหรัฐฯและจีน พบการหดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
สุดท้ายคือ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีแต่ปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือนได้รับข่าวบวกจากการที่รัฐบาลจีนเตรียมการเปิดประเทศให้คนจีนเดินทางออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศบนข้อจำกัดที่น้อยลง ส่วนในช่วงปลายเดือน รัฐบาลไทยอนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 โดยรัฐบาลคาดหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น ธปท.ยังได้ปรับเพิ่มสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ขึ้นจากเดิมที่ 22 ล้านคนมาเป็น 25.5 ล้านคนอีกด้วย ส่งผลบวกต่อภาพเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยเป็นอย่างมาก
สำหรับภาพการลงทุนในเดือนก.พ. คาดการณ์ว่า ทิศทางตลาดหุ้นโลกและดัชนี SET ในช่วงต้นเดือนก.พ. จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ FED ในการประชุมวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งหากมีการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ตามตลาดคาดจริง คงต้องติดตามต่อว่าการแถลงของนาย Jerome Powell จะมีทิศทางเอนเอียงไปในเชิงบวกหรือลบต่อภาพการลงทุนเพียงใด ส่วนเรื่องที่เป็นปัจจัยเฉพาะในตลาดหุ้นก็คงเป็นเรื่องผลการดำเนินงานของบจ.ที่จะทยอยออกมาในช่วงเวลานี้ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นจะมีอาการแกว่งตัวออกด้านข้างไปอีกพักนึง
ในเชิงกลยุทธ์ เราก็คงเน้นให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยน่าจะใกล้จุดสูงสุดแล้ว โดยลงในหุ้น 60% เป็นหุ้นไทย 15% จีน 15% สหรัฐฯ15% ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ประเทศละ 5% ที่เหลืออีก 40% แนะลงทุนในตราสารหนี้ ระยะกลาง 15% ตราสารหนี้ระยะสั้น 10% ส่วนที่เหลือยังคงแนะนำลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ในสัดส่วน น้ำมัน ทองคำ และ REIT ประเภทละ 5% ทั้งนี้ อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงอาจเลือกปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นให้กระจุกตัวมากขึ้น โดยแนะนำเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน และ สหรัฐฯ ในสัดส่วนการลงทุนที่เท่าๆกัน คือ ประเทศละ 20%