เปิด 3 อันดับ “แบงก์ล่ม”มากที่สุดปี 65 ‘ทีทีบี - ไทยพาณิชย์ - กรุงไทย” แชมป์
เปิดสถิติระบบ “แบงก์ล่ม” ปี 2565 พบระบบแบงก์โดยรวมขัดข้องล่มรวมลดลงเหลือ 91 ครั้ง จาก 113 ครั้ง แต่ระยะเวลาล่มกินระยะเวลานานขึ้นสูงสุด 46 ชั่วโมง พบ 3 แบงก์ที่ระบบล่มมากที่สุด “TTB-SCB-KTB” ส่วนใหญ่ล่มผ่านโมบายแบงกิ้ง
การให้บริการทางการเงินผ่านช่องทาง “ดิจิทัล” ถือว่าได้รับความนิยม และแทบจะเป็นช่องทางหลัก ที่มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยความสะดวก สบาย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ ยิ่งหนุนให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงิน บนดิจิทัลได้ไม่ยาก
อีกทั้ง การให้บริการทางการเงินผ่านดิจิทัล ในปัจจุบัน ถือว่า “ตอบโจทย์” ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น ไม่เพียงแค่โอนเงิน ถอนเงิน จ่ายบิลเท่านั้น แต่ยังสามารถตอบโจทย์ในด้านการลงทุน การออมเงิน และการดูแลสุขภาพผ่าน “ประกัน” ที่สามารถซื้อได้ง่ายๆ ผ่าน “ดิจิทัล” หรือโมบายแบงกิ้ง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้การเติบโตจากการทำธุรกรรมทางการเงินบนดิจิทัล ที่เติบโตก้าวกระโดด ปัญหาที่มักตามมาคือ ปัญหาขัดข้องจากระบบในการให้บริการ ทำให้ระยะหลังๆ เราจะได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับ ระบบล่ม หรือ “แบงก์ล่ม” มากขึ้น
หากดูข้อมูล “สถิติ” จากการรวบรวม ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับ ระบบ “แบงก์ล่ม” หรือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้อง ที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ ทั้งโมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เครื่องฝากถอนอัตโนมัติ เอทีเอ็ม หรือซีดีเอ็ม และผ่านช่องทางสาขา ในปี 2565 พบว่า ล่มร่วมกันอยู่ที่ 91 ครั้ง ลดลง 22 ครั้ง หากเทียบกับ 2564 ที่ผ่านมา ที่ระบบโดยรวมล่มรวมกันอยู่ที่ 113 ครั้ง
โดยแบงก์ที่ระบบล่ม มากที่สุด 3 อันดับแรก ในปี 2565 คือ ธนาคารทหารไทยธนชาต(ttb) ที่ระบบล่ม ผ่านทุกช่องทางรวมกันอยู่ที่ 30 ครั้ง
ถัดมาคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 18 ครั้ง และกรุงไทย(KTB) 13 ครั้ง ซึ่งใกล้เคียงกับ ปี 2564 ที่แบ่งล่มมากที่สุด คือ ttb ล่มเป็นอันดับ 1 ที่ 30 ครั้ง ถัดมาคือ ไทยพาณิชย์ 18 ครั้ง และ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กรุงไทย กรุงศรี ล่มร่วมกันที่ละ 10 ครั้ง
ทั้งนี้ หากดูช่องทางการให้บริการทางการเงิน ที่มีปัญหามากที่สุดคือ การให้บริการผ่าน “โมบายแบงกิ้ง” โดยอัตราการล่มรวมกันของปี 2565 อยู่ที่ 65 ครั้ง เพิ่มขึ้น หากเทียบกับ ปี 2564 ที่ผ่านมา ที่อัตราการล่มอยู่เพียง 60 ครั้ง
หากดูระยะเวลาการล่มของระบบโมบายแบงกิ้ง ในปี 2565 ที่กินเวลามากที่สุด อยู่ที่ 46 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน หากเทียบกับปี 2565 ที่ระบบล่มกินระยะเวลาสูงสุดเพียง 11ชั่วโมง เท่านั้น
โดยหากดูเฉพาะ ข้อมูลระบบขัดข้อง ในช่วงไตรมาส 4 พบว่า การให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้ง ล่มลดลง เหลือ 17 ครั้ง จากไตรมาส 3 ที่ระบบล่มถึง 18 ครั้ง โดยระยะเวลาของระบบล่มกินเวลานานสุดเพียง 7 ชั่วโมง ในไตรมาสนี้ ลดลงมากหากเทียบกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่ระบบล่มมากที่สุดอยู่ที่ 6 ครั้ง และระยะเวลารวมกันถึง 46 ชั่วโมง
และธนาคาร ที่ระบบล่มมากที่สุดในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาคือ ธนาคารกรุงไทย(KTB) โดยมีอัตราการล่มของระบบ ผ่านโมบายแบงกิ้งถึง 5 ครั้ง กินระยะเวลารวมกัน 7 ชั่วโมง ถัดมาคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต(ttb) และไทยพาณิชย์(SCB) ที่อัตราการล่มอยู่ที่ 4 ครั้ง กินเวลารวม 3 ชั่วโมง และธนาคารกรุงเทพ(BBL) ล่ม 2 ครั้ง กินเวลา1 ชั่วโมง
ซึ่งหากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า อัตราการล่ม ผ่านโมบายแบงกิ้งอยู่ที่ 18 ครั้ง โดยแบงก์ที่มีอัตราการล่มมากที่สุดในไตรมาส 3 คือ ttb ที่มีอัตราการล่มถึง 6 ครั้ง โดยระยะเวลารวมในการล่มร่วมกัน 46 ชั่วโมง เช่นเดียวกันไทยพาณิชย์ ที่ล่ม 6 ครั้งเช่นกัน หรือระยะเวลาล่มร่วมกัน 6 ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์