เงินบาทเปิดตลาด อ่อนค่า สุดรอบ 1 เดือน ที่ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ กังวลเฟดขึ้นดบ.

เงินบาทเปิดตลาด อ่อนค่า สุดรอบ 1 เดือน ที่  33.55 บาทต่อดอลลาร์ กังวลเฟดขึ้นดบ.

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดรอบ 1 เดือนที่ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังตลาดกลับมากังวลแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ ในวันศุกร์ออกมาสูงกว่าคาดไปมาก มองกรอบวันนี้ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ก.พ.) ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” สูงสุดในรอบ 1 เดือน จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์  มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.00-33.75 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมการปรับฐานของราคาทองคำ เงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อได้บ้าง โดยต้องจับตาแนวต้านสำคัญแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เป็นจุด Cut Loss ของผู้เล่นบางส่วนที่มีสถานะ Short USDTHB รวมถึงเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าขายสุทธิหุ้นและบอนด์ต่อเนื่อง อนึ่ง แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มลดลง หลังดัชนี SET50 ได้ย่อลงใกล้โซนแนวรับหลัก

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า หากประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความกังวลว่า ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า และผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงต่อ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ ในวันศุกร์ออกมาสูงกว่าคาดไปมาก

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪       เงินดอลลาร์ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาจมีไม่มาก แต่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตลาดคาดว่าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้แย่ลงอย่างที่ตลาดเคยกังวล รวมถึงภาพเงินเฟ้อที่ชะลอลงมากขึ้น อาจช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรงตัวที่ระดับ 64.9 จุด (หรืออาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยได้) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดตีความถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference ว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยไปมากนักจากระดับล่าสุด (ส่งผลให้ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน) ทว่า รายงานข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมากลับออกมาดีเกินคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง (สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มอง Terminal Rate 5.25% อีกครั้ง) ซึ่งผู้เล่นในตลาดก็อาจอยากทราบมุมมองของประธานเฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดที่ดีกว่าคาด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการรวมถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ต่อเนื่องจากช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาได้

 

▪       ฝั่งยุโรป – ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้นกว่าคาด จะช่วยหนุนให้บรรดานักลงทุนสถาบันและบรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนโดย Sentix (Investor Confidence) เดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -12 จุด ดีขึ้นจากระดับ -17.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า(ดัชนีน้อยกว่า 0 สะท้อนมุมมองเชิงลบ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 4 โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า เศรษฐกิจอังกฤษ อาจขยายตัวเพียง +0.3%y/y ชะลอลงหนัก จากที่ขยายตัวกว่า +1.9%y/y ในไตรมาสก่อนหน้า กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและผลกระทบของราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงจนกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจยังคงกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและกดดันให้เงินยูโร (EUR) มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้

 

▪       ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID จะช่วยหนุนให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมปรับตัวขึ้นได้บ้าง ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนในเดือนมกราคมอาจปรับขึ้นสู่ระดับ 2.2% จาก 1.8% ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดยังคงมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของจีนยังมีไม่มากนัก ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้ หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่ทางด้านธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย+0.25% สู่ระดับ 3.35% และ 6.50% ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศ แม้ว่าจะชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินพอสมควร

 

▪       ฝั่งไทย – เราประเมินว่าการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ที่ได้แรงส่งจากการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น +0.5% จากเดือนก่อนหน้า หรือ คิดเป็น +5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ความหวังเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นในปีนี้ อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50 จุด ได้เช่นกัน