คลังเล็งเพิ่มมาตรการภาษีจูงใจเอกชนจ้างสูงวัย

คลังเล็งเพิ่มมาตรการภาษีจูงใจเอกชนจ้างสูงวัย

คลังชี้ 1-2 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้สูงอายุจะมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เล็งออกมาตรการภาษีหนุนเอกชนจ้างงานสูงวัยเพิ่ม พร้อมแนะออมเงินผ่าน กอช.เพื่อให้มีเงินไว้ใช้เมื่อวัยเกษียณ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ การสนับสนุนผู้สูงวัยให้มีงานทำควรมีมาตรการเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกรณีที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ

โดยเป็นจากอัตราการเกิดที่ลดลง ประกอบกับประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุ  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 20% ในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือมีประชากรสูงอายุมากกว่า 28%ในปี 2577

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ และรวมถึง รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงวัยมากขึ้น

 

"เราคงไม่ได้จ้างผู้สูงอายุไปแบกหาม แต่จะเป็นการจ้างงานในฐานะที่มีประสบการณ์มาเป็นผู้สอนงานเป็นต้น ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นก็มีการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพต่างๆ เป็นต้น และในต่างประเทศก็มีการขยายอายุการเกษียณผู้สูงอายุ เป็น 65-70 ปีแล้ว"

 

ทั้งนี้ การออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยรัฐบาลได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี                      (พ.ศ. 2561 - 2580) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม

 

สำหรับแรงงานในระบบมีการออมเงินภาคบังคับตามกฎหมายผ่านกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับ โดยสามารถส่งเงินออม ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติหรือกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

 

อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการออมของกลุ่มแรงงานนอกระบบยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันยังมีแรงงานนอกระบบ อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ โดยในปี 2565 พบว่า แรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน มีการออมเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 45%ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคม จำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติหรือ กอช. จำนวน 2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอีก 16.1 ล้านคน หรือ 55% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

 

การส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ที่ผ่านมา กอช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันการเงินของรัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หน่วยงานภาคีเครือข่าย และหน่วยงานอื่นๆ ส่งผลให้จำนวนสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง

 

จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม ซึ่งการปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมและจำนวนเงินสมทบดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มแรงจูงใจในการออม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ โดยเฉพาะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนมีการออมเพื่อการเกษียณเร็วขึ้น 

ในส่วนของ กอช. ภารกิจสำคัญ ในระยะต่อไปยังคงต้องมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เห็นความสำคัญ และความจำเป็นของการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กอช. ก็ควรพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับทั้งสมาชิกใหม่ และสมาชิกปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ และสร้างวินัยการออมให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์