“อาคม”สั่งแบงก์ร่วมแก้หนี้ต่อระบุมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
“อาคม”สั่งแบงก์ร่วมแก้ไขหนี้ต่อเนื่อง ชี้มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมกำหนดผลการแก้ไขหนี้เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของแบงก์รัฐ เผยยอดลงทะเบียนรวมกว่า 4.4 แสนรายการ แก้ไขหนี้ได้เพียง 5 หมื่นรายการ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แม้มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ของรัฐบาลจะปิดตัวลงแล้ว แต่การดำเนินการแก้ไขหนี้ครัวเรือนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้สามารถติดต่อขอแก้ไขหนี้ได้ที่แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ได้ตลอดเวลา โดยในส่วนของแบงก์รัฐนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้เป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานของแบงก์รัฐด้วย ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือในการแก้ไข อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ไขหนี้จะต้องไม่กระทบต่อฐานะของแบงก์ด้วยเช่นกัน
“ได้สั่งการให้แบงก์รัฐทุกแห่ง เดินหน้าช่วยแก้หนี้ต่อเนื่อง โดยทุกธนาคารต้องเปิดสาขาทั่วประเทศรับเรื่องช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ ลูกหนี้บางรายที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเดินทางไปตรวจสอบเคาะถึงประตูบ้านให้เลย เพราะรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ และนายกรัฐมนตรี ก็กำชับให้ทุกหน่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ เนื่องจากผลการจัดงานมหกรรมแก้หนี้ ทั้งรูปแบบออนไลน์ และการจัดสัญจร 5 ภาค มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้สะสม 4.4 แสนรายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เกี่ยวกับบัตรกดเงินสด บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล แต่ปัจจุบันสามารถแก้หนี้ได้ 5 หมื่นรายการ และพบว่า มีถึง 1 แสนรายการ ที่ลงทะเบียนไว้แต่ติดต่อไม่ได้ อีก 1 แสนรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และอีกส่วนใหญ่ 1.5 แสนรายการยังอยู่ระหว่างดำเนินติดตามการแก้ไข จึงต้องเร่งเดินหน้าต่อ
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น เขากล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ให้นโยบายไปด้วยว่า การเจรจาแก้ไขหนี้จะต้องพิจารณาในประเด็นดังกล่าวด้วย โดยให้พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้และให้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ที่นานที่สุดด้วย
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ในฐานะประธานสมาคมแบงก์รัฐกล่าวว่า ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ทางแบงก์รัฐเองก็ได้เข้าไปดูแลลูกหนี้ โดยตรึงให้นานที่สุด ซึ่งแบงก์รัฐได้เริ่มปรับดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่อัตราที่ปรับยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราตลาด
อย่างไรก็ดี แบงก์รัฐได้กำหนดลูกหนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มลูกหนี้ปกตินั้น เราได้เข้าไปบริหารจัดการให้อัตราการชำระหนี้ต่องวดลดลงแต่ระยะเวลาของหนี้อาจจะยาวขึ้น ในกลุ่มที่เป็นหนี้เสียเราก็ได้เข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่เป็นลูกหนี้ใหม่ กลุ่มนี้เราจะเข้าไปดูความสามารถในการชำระหนี้ โดยแม้ว่า จะมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่วงเงินที่ให้อาจจะน้อยลง
ด้านนายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลังกล่าวถึงผลการจัดงานมหกรรมแก้ไขหนี้รูปแบบสัญจร จำนวน 5 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลาว่า มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 3.4 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุด 1.3 หมื่นรายการ รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 1 หมื่นรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4 พันรายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8 พันล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7 พันรายการ
ส่วนผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้นมากกว่า 1.88 แสนราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 4.13 แสนรายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่น ๆ 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่น 5% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4%และสินเชื่อประเภทอื่นๆ10% ทั้งนี้ ขณะนี้ สามารถแก้ไขหนี้ได้แล้วประมาณ 5 หมื่นรายการ วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ธปท.จะได้ติดตามการแก้ไขหนี้ของผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์กับแบงก์พาณิชย์อย่างใกล้ชิด โดยกรณีที่เจรจาไม่ได้เราจะเข้าไปช่วยเจรจาให้ด้วย ทั้งนี้ ธปท.ได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง
ได้แก่ 1.ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ 2.หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ 3.คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน
นอกจากนี้ ธปท.จะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนก.พ.นี้ เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน (Responsible Borrowing) เป็นต้น