ttb ปักธงขึ้น ท็อปทรี ในการตอบโจทย์ลูกค้าผ่านดิจิทัลมากที่สุด

ttb ปักธงขึ้น ท็อปทรี ในการตอบโจทย์ลูกค้าผ่านดิจิทัลมากที่สุด

“ทีทีบี” เร่งปรับตัวสู่ “ดิจิทัล”หวัง 3-5 ปี ขึ้นแท่น “ท็อปทรี” ดิจิทัลแบงกิ้งแพลตฟอร์ม ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด พร้อมช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลดวูบ แย้มอยู่ระหว่างหารือตั้ง “เจวีเอเอ็มซี” หวังเร่งบริหารหนี้เสีย

      หลังควบรวมกิจการเสร็จสิ้นระหว่าง “ธนาคารทหารไทย” และ “ธนชาต” มาสู่ “ทหารไทยธนชาต” หรือ ทีทีบี  

       ทำให้ฐานของธนาคาร “ทีทีบี” วันนี้ถือว่าใหญ่ขึ้นมาก ทั้งในด้านเงินทุน ทรัพยากร บนฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และจากการมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ธนาคาร สามารถช่วยลูกค้าของธนาคารได้มากขึ้น

       นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโฟกัสอยู่กับโควิด-19 ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง แม้โควิดผ่านพ้นไป แต่วันนี้ยังหนีไม่พ้นวิกฤติต่างๆ ที่คงซ้ำเติมลูกค้าธนาคาร ซ้ำเติมภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องในวันนี้

      ดังนั้นบทบาทของ “ภาคธนาคาร” ของทีทีบี ต่อคนไทย ต่อเศรษฐกิจที่เป็นพันธกิจของธนาคารคือ การทำอย่างไรให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น

       นอกจากนี้กลยุทธ์ที่สำคัญของธนาคารปีนี้คือ การเดินหน้าใช้ “เทคโนโลยี” หรือดิจิทัล Digitalization Journey มาช่วยยกระดับการให้บริการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าบนดิจิทัล เพื่อสร้าง New Business Model และ Ecosystem Play เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่ดีขึ้น

        ทั้งนี้ยังส่งผลดีกับธนาคารในการไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนของธนาคาร ทำให้ภาระการดำเนินงานลดลง

     โดยธนาคารจะ มุ่งสู่การเป็น 1 ใน 3 Digital banking platform ภายใน 3-5 ปี เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้ดิจิทัลในการทำธุรกรรมให้กับลูกค้า

        นายปิติ กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารพยายามทำคือ การย้ายธุรกรรม จากที่เคยทำได้ที่สาขา หรือคน ไปสู่ โมบายแบงกิ้งมากขึ้น หากดูลูกค้าที่ใช้งานผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารวันนี้ อยู่ที่กว่า 4 ล้านคน และธุรกรรมหลักๆ อยู่บนดิจิทัลแล้ว 80%

       “การตั้งเป้าขึ้น Top3 เป็นเป้าที่ท้าทายมาก เพราะแบงก์ที่เป็นระดับท็อปๆ วันนี้ หลักๆ ก็แบงก์ใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการที่เราจะขึ้นไป Top3ได้ แปลว่าเราต้องไปหายใจรดต้นคอเขา ซึ่งอาจไม่ได้วัดจากจำนวนคนใช้งาน แต่อาจจะวัดจาก ความพึงพอใจของลูกค้า การใช้จ่ายของลูกค้าผ่านดิจิทัล

       สำหรับการจัดตั้ง Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ปัจจุบันธนาคารไม่มีแผนจัดตั้ง เนื่องจากปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของธนาคารคือ กำลังพาแบงก์เปลี่ยนแปลงให้เป็น Virtual Bank อยู่แล้ว โดยเฉพาะการสร้างโปรดักต์บนดิจิทัลต่างๆ

      ดังนั้นยังมองว่าการให้บริการผ่าน มนุษย์ กับดิจิทัล ยังมองว่าสำคัญกว่าการเป็นดิจิทัลล้วนๆ

       นอกจากนี้ ที่ผ่านมาธนาคารก็มีการหารือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC หลายราย เพื่อจัดตั้ง บริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์(JVAMC) ในการเข้ามาช่วยบริหารหนี้เสียในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์