กรุงศรีฯ ชี้สินเชื่อรายใหญ่ทะลัก ดีล M&A เข้าคึกคัก
กรุงศรีฯ ชี้แนวโน้มสินเชื่อรายใหญ่เติบโตต่อเนื่อง คาดปี 66 โต 5% หลังพบธุรกิจขอกู้ขยายกิจการต่อเนื่อง พบดีล ‘ซื้อกิจการ-ควบรวม’ คึกคักกว่า 10 ดีล ดีลละ 1-5 พันล้าน ทั้งในและต่างประเทศ ชี้ธุรกิจขนาดใหญ่แห่ลงทุนที่เกี่ยวกับ “อีเอสจี” ต่อเนื่อง 1 แสนล้านในปี 7
สินเชื่อ “ธุรกิจรายใหญ่” ถือเป็นสินเชื่อที่มีความสำคัญ มีนัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยขนาดของธุรกิจรายใหญ่ และจำนวนแรงงานที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนมาก ยังรวมไปถึง “ห่วงโซ่อุปทาน” ของธุรกิจรายใหญ่ ที่มักจะมีธุรกิจภายใต้ห่วงโซ่ที่เกี่ยวโยงกันจำนวนมาก ดังนั้นธุรกิจรายใหญ่ จึงเป็นธุรกิจที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ
สำหรับ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” หรือBAY ณ สิ้นปี 2565 พอร์ตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่รวมกันกว่า 7.2แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 30%ของสินเชื่อรวมทั้งหมดของแบงก์ที่กว่า 1.9ล้านล้านบาท หากแยกเฉพาะสินเชื่อบรรษัทไทย มีถึง 4.5แสนล้านบาท และเป็นสินเชื่อจากบรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติเกือบ 2.9แสนล้านบาท
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ปี 2566 ถือว่ามีทิศทางการเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกลับมาของท่องเที่ยว ที่เป็นส่วนสำคัญ ทำให้ธุรกิจรายใหญ่กลับมาลงทุนและขยายกิจการมากขึ้น
ดังนั้นในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 5% หรือคิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อที่คาดปล่อยลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้กว่า 2.4หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ราว 4.74แสนล้านบาท
โดยธุรกิจ ที่เริ่มกลับมาขอสินเชื่อมากขึ้น หลักๆอยู่ในกลุ่ม ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เทเลคอม และที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ที่มีดีมานด์การขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เห็นดีลในการซื้อกิจการ ควบรวมกิจการ (M&A) ของธุรกิจรายใหญ่ค่อนข้างมากกว่า 10 ดีล ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งดีลในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ดีล M&A ที่เห็นมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการกลับมาเดินหน้าธุรกิจของธุรกิจขนาดใหญ่ จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ตัดสินใจขายกิจการ หรือควบรวมกิจการมากขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยดีลที่อยู่ระหว่างการทำ M&A ปัจจุบัน มีตั้งแต่ 1,000-5,000 ล้านบาท
“วันนี้เราเห็นดีล M&A สูงขึ้น ในมือวันนี้มีกว่า 10ดีล หลังจากโควิด ที่ผ่านมา กระตุ้นให้ผู้ประกอบการกล้าตัดสินใจมากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นกิจกรรมของธุรกิจรายใหญ่ ในการทำดีลเหล่านี้มากขึ้น ส่วนดีลจะจบได้ปีนี้เท่าไหร่ อยู่ที่การเจรจาว่าจบได้เร็วมากน้อยแค่ไหน”
นอกจากนี้ ยังเห็นการขอสินเชื่อที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือ ESG มากขึ้น โดยปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าระยะข้างหน้า แนวโน้มการขอสินเชื่อที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ESG จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเกณฑ์การจัดกลุ่มความยั่งยืน หรือ Taxonomy ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีความชัดเจน ซึ่งน่าจะหนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ทิศทาง ESG มากขึ้น
ดังนั้นพันธกิจของธนาคารในระยะข้างหน้า คือการเข้าไปสนับสนุนภาคธุรกิจไปสู่ ESG มากขึ้น ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ทั้งธนาคารตั้งเป้าไว้ 50,000-100,000ล้านบาทในปี 2573
สำหรับแนวโน้มรายได้ที่ไม่ได้มาจากดอกเบี้ย ธนาคารเชื่อว่า มีทิศทางเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการเข้าไปสนับสนุนลูกค้าในการทำธุรกรรม และการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้กับธุรกิจรายใหญ่ ทั้งการทำทรานเซกชันข้ามประเทศ การบริหารจัดการความเสี่ยง เทรดไฟแนนซ์
โดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ที่เชื่อว่า หากตลาดมีความผันผวน จะเป็นตัวเร่งให้ลูกค้าของธนาคาร หันมาป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน(เฮดจิ้ง)มากขึ้น ซึ่งจุดนี้ จะเป็นตัวหนุนทำให้เกิดธุรกรรมระหว่างธนาคารมากขึ้น