ธปท.คาดเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวราวไตรมาสสามปีนี้-จับตาหนุนส่งออก
ธปท.คาดเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ราวไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ ระบุ ผลกระทบจากแรงกดดันด้านนโยบายต่างประเทศเริ่มลดลง จับตาหนุนภาคส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น พร้อมดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนกระทบภาคเศรษฐกิจ ส่วนกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวในเดือนม.ค.นี้
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินว่า แม้ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกยังได้รับแรงกดดันจากผลกระทบด้านต่างๆ แต่เมื่อมองไปข้างหน้าแนวโน้มผลกระทบจากนโยบายต่างๆอาจจะไม่แรงเท่าที่คาด ดังนั้น เราเห็นว่า เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆฟื้นตัว แต่ไม่หวือหวา ซึ่งเข้าใจว่า ในไตรมาสที่สามและสี่ เราอาจเห็นภาวะเศรษฐกิจโลกกลับมาดีกว่านี้
ทั้งนี้ ในแง่การส่งออกของไทยนั้น ในเดือนม.ค.ยังขยายตัวได้ 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนยังถือว่า ลดลง ส่วนหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกยังได้รับแรงกดดัน ส่วนแนวโน้มในไตรมาสแรกและไตรมาสสอง ก็น่าจะยังได้รับแรงกดดันอยู่ แต่ว่า เราคงต้องมาเทียบเดือนต่อเดือนว่าปรับตัวดีขึ้นหรือไม่
สำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนม.ค.ถึงกลางเดือนก.พ.นี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายด้านสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่ธปท.นำมาพิจารณาปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้ ทั้งนี้ สำหรับจีดีพีในไตรมาสที่สี่ปี 65 ที่ออกมาก็ถือว่า ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราต้องนำมาพิจารณา
ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.นี้ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับกิจกรรมในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอลงบ้าง ด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดจาก
1.หมวดบริการ ตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย 2.หมวดสินค้าคงทน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 3.หมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนปรับลดลงบ้าง ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังคงปรับดีขึ้นจากทั้งการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงจากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียม ตามการกลับมาดำเนินการผลิตหลังจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงก่อนหน้า และหมวดอาหารที่ปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามการผลิตคอนกรีต และปูนซีเมนต์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยตามจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่ลดลงจากผลของมาตรการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับจากประเทศไทย ที่บังคับใช้ชั่วคราวในเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังทางการจีนยกเลิกการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น อาทิ มาเลเซีย และยุโรปเพิ่มขึ้นเช่นกัน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษา พยาบาลข้าราชการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ทั้งในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลงตามราคาเนื้อสัตว์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นเข้าใกล้ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่ขาดดุลตามการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้นตามมุมมองที่ดีของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย จากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด อย่างไรก็ดี ธปท.พร้อมดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ
ส่วนเศรษฐกิจในเดือนก.พ.หรือ ตั้งแต่วันที่ 1-16 ก.พ.นี้ เครื่องชี้พบกิจกรรมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น โดยดัชนีชี้วัดการเดินทางประชาชนสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีทุกช่องทาง ขณะเดียวกัน ปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับสายการบิน ที่พักในไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนการท่องเที่ยวเติบโตได้ ส่วนในมุมของผู้ประกอบการนั้นโดยรวมมองเศรษฐกิจในเดือนก.พ.ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในมุมของนักธุรกิจมองว่า ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม แต่ธุรกิจสายการบินยังมีข้อจำกัดเรื่องเครื่องบินไม่เพียงพอ และโรงแรมยังขาดแคลนแรงงาน
ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์มองว่า ยังทรงตัว โดยบางส่วนยังรอการกลับมาของอุปสงค์ต่างชาติที่ชัดเจน และผู้ประกอบการยังส่งผ่านต้นทุนได้ค่อนข้างจำกัด เพราะว่า รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ส่วนการผลิตในภาพรวมทรงตัว ขณะที่ การผลิตอาหารและเครื่องดื่มยังไปได้ตามความต้องการบริโภคในประเทศ แต่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และฮาร์ดดิสไดรฟ์ยังชะลอตามภาวะเศรษฐกิจโลก ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคมองว่า ลดลงตามกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า ส่วนมาตรการช้อปดีมีคืนนั้น ก็กระตุ้นได้ในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ด้านสินค้าคงทนดีขึ้นเล็กน้อย โดยเห็นบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นพยายามเร่งขายรถกระบะและเห็นความกังวลต่อกำลังซื้อในสินค้ากลุ่มเปราะบาง