ธปท.จับตา ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 80% ของจีดีพี

ธปท.จับตา ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 80% ของจีดีพี

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ครัวเรือนยังมีภาระหนี้สูงสัดส่วนกว่า 86% ของจีดีพี ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของครัวเรือน และภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความมั่นคง เงินกองทุน สภาพคล่อง เงินสำรองยังอยู่ในระดับสูง

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ระบุ ความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัววงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 80% วงเงิน 2.12 แสนล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 6 หมื่นราย โดยมีวงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.5 ล้านบาท/ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้มียอดอนุมัติสินเชื่อ 6.5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท ส่วนความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ล่าสุดช่วยไปแล้วจำนวน 5.22  ล้านบัญชี มียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จาก 90.1% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 86.8% ในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง และยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบจากโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพ และดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น

ส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลง และความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ธนาคารพาณิชย์โกยกำไรปี 2565 พุ่ง 2.36 แสนล้าน

สำหรับภาพรวมธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

ผลการดำเนินงานปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน มีกําไรสุทธิจํานวน 2.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.7% เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วงโควิด-19 

สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในขยายตัวที่ 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft loan รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ 

อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์ และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 4.9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.73%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์