"เงินบาท" ไบโพลาร์ แบงก์ชาติว่าอย่างไร?
"ค่าเงินบาท" ที่ผันผวนสูงมากๆ ในเวลาไม่กี่เดือนเงินบาทมีการเคลื่อนไหวสูงถึง 15% ด้านผู้ส่งออกเรียกร้องให้ ธปท. ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป แต่เสียงของผู้ประกอบการอาจจะดังไปไม่ถึงแบงก์ชาติ
ช่วงหลายเดือนมานี้ผู้ประกอบการฝั่งนำเข้าและส่งออกต้องปวดหัวอย่างมากกับการบริหารจัดการธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นผลจาก ‘ค่าเงินบาท’ ที่ ‘ผันผวน’ สูงมากๆ เรียกว่าในเวลาไม่กี่เดือนเงินบาทมีเปอร์เซนต์การเคลื่อนไหวสูงถึง 15% น้อยครั้งมากที่จะเห็นการเคลื่อนไหวหวือหวาเช่นนี้
แน่นอนว่าความผันผวนที่เกิดกับค่าเงินบาทเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เกิดกับสกุลเงินหลายๆ สกุล แต่ปัญหาที่สำคัญของ เงินบาท คือ ความผันผวนทั้งในฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่า เรามักนำโด่งเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค สะท้อนถึงความผันผวนที่สูงมากจนผู้ประกอบการหลายกลุ่มเริ่มมีเสียงบ่นให้ได้ยิน
พาย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทกันเล็กน้อย ถ้าจำกันได้ปลายปีที่แล้วเรายังบ่นถึงเงินบาทที่อ่อนค่าแรงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค โดยช่วงเวลานั้นเงินบาทอ่อนค่าลงสู่ระดับ 38.47 บาทต่อดอลลาร์ (17 พ.ย.2565) เป็นระดับการอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี อันเป็นผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
แต่หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 เดือน เงินบาทก็ร่วงลงราวกับตกหน้าผา สะท้อนการแข็งค่าที่แรงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค จนมาแตะระดับ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ (23 ม.ค.2566) หรือแข็งค่าขึ้นราว 15.3% ในเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น
หลังจากนั้นอีกแค่ 1 เดือนถัดมา เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าอย่างรุนแรงรอบใหม่ โดยมาทำจุดอ่อนสุดของรอบนี้ที่ระดับ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ (27 ก.พ. 2566) หรืออ่อนค่าลงราว 8.6% ภายในเวลาแค่ 1 เดือน ซึ่งนับเป็นการอ่อนค่าที่มากสุดอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอีกเช่นกัน
...ล่าสุดในช่วงต้นเดือน มี.ค. นี้ เงินบาทมีสัญญาณว่าจะกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงการเหวี่ยงตัวอย่างรุนแรงราวกับคนเป็น ‘ไบโพลาร์’ ซึ่งยากต่อการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ไม่นานผู้ประกอบการส่งออก เพิ่งจะออกมาเรียกร้องให้ ธปท. ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพราะเงินบาทจะอ่อนหรือแข็ง ไม่สำคัญเท่ากับความผันผวนที่รุนแรง เนื่องจากมีผลต่อการกำหนดราคาสินค้า แต่เสียงของผู้ประกอบการเหล่านี้ อาจจะดังไปไม่ถึงแบงก์ชาติ ยิ่งระยะหลังเราไม่ค่อยเห็นการสื่อสารใดๆ จากทางธนาคารแห่งประเทศไทยเลย
หลายคนยังอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดแบงก์ชาติจึงยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทกระชากขึ้นลงเกินวันละ 1% เพราะในอดีตแทบไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ให้เห็น
ความจริงแล้วในวันนี้ (8 มี.ค.) แบงก์ชาติจัดประชุมใหญ่ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงวิชาการ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุมก็คาดหวังว่า แบงก์ชาติจะหยิบยกประเด็นเรื่องความผันผวนของค่าเงินที่กำลังเป็นปัญหาหนักของผู้ประกอบการขึ้นมาหารือด้วย
หลายคนตั้งความหวังกับเวทีประชุมในวันนี้ไว้มาก เพราะอยากได้ยินเสียงการสื่อสารจากแบงก์ชาติ แต่ดูแล้วอาจต้องผิดหวัง เพราะแบงก์ชาติเปรยออกมาแล้วว่า การประชุมวันนี้ไม่มีคุยเรื่องค่าเงินและขอไม่ให้เปิดเผยต่อสาธารณชน!