บสย.พร้อมค้ำประกันเงินกู้รายย่อยหลักหมื่นบาทผ่านPGS10ปลายเดือนมี.ค.นี้
บสย.เตรียมค้ำประกันภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 10 ที่เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ตั้งแต่ระดับหาบเร่แผงลอย จนถึงธุรกิจขนาดกลาง โดยค้ำวงเงินสินเชื่อตั้งแต่หลักหมื่นบาท/ราย จนถึง 40 ล้านบาทต่อราย เริ่มปลายเดือนมี.ค.นี้
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย.เตรียมเริ่มโครงการค้ำประกันภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 10 ที่เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับSMEs ตั้งแต่ระดับหาบเร่แผงลอย จนถึงธุรกิจขนาดกลาง โดยค้ำวงเงินสินเชื่อตั้งแต่หลักหมื่นบาท/ราย จนถึง 40 ล้านบาทต่อราย
เขาคาดว่า วงเงินค้ำประกัน PGS ระยะที่ 10 ที่ครม.เพิ่งอนุมัติให้ บสย.ดำเนินการ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ในวงเงินค้ำประกัน 5หมื่นล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 10 ปี คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการส่งลูกค้าให้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้ ภายในปลายมีนาคมนี้ โดยคาดว่าภายใน 3 -4 เดือนหลังจาก launchโครงการนี้ จะมียอดค้ำประกันราว 3 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท
PGS ถือเป็นผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ตัวหนึ่งของ บสย. ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนบางส่วนแก่ บสย.ทำให้สามารถลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันลงต่ำกว่าปกติได้ โดยรัฐบาลจะเข้าไปชดเชยความเสียหาย ไม่เกิน 7.12 พันล้านบาทให้แก่ บสย.
สำหรับ PGS ระยะที่ 10 จะแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ ( Segmentation) เป็น 6 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะคิดอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่ไม่เท่ากัน ดังนี้
1.สตาร์ท อัพ (Start up) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่ต้องการเงินทุนสำหรับเริ่มต้นกิจการใหม่ ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ,ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3% ต่อปีของยอดสินเชื่อที่ขอค้ำประกัน ฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน วงเงินค้ำประกันระยะแรก 1,000 ล้านบาท
2. Small Biz สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 200,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 3,000 ล้านบาท
3.Smart One สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ Covid-19 ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 10,000 ล้านบาท
4.Smart Biz สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการยกระดับเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ หรือขยายธุรกิจรองรับการเติบโต ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปี ฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 15,000 ล้านบาท
5.Smart Green เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนา เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และ BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท
6.Smart Plus เป็นนวัตกรรมค้ำประกัน ใช้คู่กับโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท
โครงการ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดวันรับคำขอ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2025 จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ที่จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา
ทั้งนี้ PGS ระยะที่ 10 บสย.จะค้ำประกันหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ 22 -40% ของport สินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการ โดยการค้ำประกันสินเชื่อของกลุ่ม Start up จะสูงสุดที่ 40 % เนื่องจากเป็นกลุ่มรายเล็กที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นการค้ำประกันสูงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงิน
เขากล่าวว่า ในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดการค้ำประกันทั้งปีอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ สามารถทำยอดการค้ำประกันไปได้แล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท
ในส่วนของสินเชื่อที่ค้ำประกันแล้วกลายเป็นหนี้เสีย หรือที่เรียกว่า Non Performing Guarantee (NPG) นั้น ณ สิ้นปีที่แล้ว อยู่ที่ 7-8% ของยอดค้ำประกันรวมที่อยู่ที่ 7 แสนล้านบาท
เขากล่าวอีกว่า นอกจากผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่เรียกว่า PGS แล้ว บสย.ยังมีผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่ดำเนินการด้วยตัวเอง คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันในปีนี้ 7 หมื่นล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่ 2 % ของยอดสินเชื่อที่ขอค้ำประกัน และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้ พรก. Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 6.15 หมื่นล้านบาท ซึ่ง บสย.คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1 % และให้ฟรีค่าธรรมเนียมใน 2 -3 ปีแรก