เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเท่าไรวันพุธนี้
อาทิตย์นี้นักลงทุนควรจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหรือเฟดที่จะมีในวันพุธว่า ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไปอย่างไร
หลังตลาดการเงินโลกผันผวนมากอาทิตย์ก่อนหน้ากับเหตุการณ์ในสถาบันการเงินทั้งที่สหรัฐและยุโรป และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่และเท่าไร เป็นคําถามที่ผมถูกถามมาก
ผมเห็นว่าเฟดควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อ และควรไปเต็มที่เท่าที่จะทําได้เพราะอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังสูง แต่การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในที่สุดอาจเป็นเรื่องจิตวิทยาตลาดมากกว่าเศรษฐศาสตร์ นี่คือคําตอบที่ให้ไปและเป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อย่างที่ทราบจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจโดยพิจารณาข้อมูลล่าสุด ซึ่งจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดคือ ภาวะตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐสามารถสรุปได้ดังนี้
1.เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้พูดได้ว่าอยู่ในจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐอยากเห็น คืออยู่ใน Sweet Spot ในแง่เศรษฐกิจมหภาค กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อกําลังลดลง เศรษฐกิจชะลอ แต่ตลาดแรงงานดูเข้มแข็ง
ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ การจ้างงานใหม่ขยายตัวต่อเนื่องแต่ลดลงจากเดือนมกราคม อัตราว่างงานต่ำมากที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่ค่าจ้างแรงงาน
ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เฟดวิเคราะห์ว่าขับเคลื่อนแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐขณะนี้ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เดือนต่อเดือนเทียบกับร้อยละ 0.4 เดือนก่อนหน้า
เป็นพัฒนาการที่ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกําลังปรับตัวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างน่าพอใจ และอยู่ในทิศทางที่เฟดอยากเห็น
2.อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 6.0 อยู่ในเกณฑ์สูงแม้ปรับลดลงจากร้อยละ 6.4 เดือนมกราคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานลดเหลือร้อยละ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์
ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อกําลังลดลงแต่เป็นไปอย่างช้าๆ และยังห่างจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 มาก ที่สำคัญแรงกดดันเงินเฟ้อที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ยังเป็นค่าจ้างแรงงานในภาคบริการ ทําให้การลดลงของเงินเฟ้อจะใช้เวลาเพราะความไม่สมดุลในตลาดแรงงานที่มีอยู่
ข้อมูลข้างต้นจึงชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดยังสูง จำเป็นต้องลดลงอีก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐดูเข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นต่อของอัตราดอกเบี้ยได้
จนมีการวิเคราะห์เมื่อสองอาทิตย์ก่อนว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้นได้อีกร้อยละ 0.50 เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐสองอาทิตย์ ที่แล้วที่นำไปสู่การปิดธนาคารพาณิชย์ระดับท้องถิ่นสองธนาคาร ก็เปิดประเด็นเรื่องเสถียรภาพการเงินของประเทศ หรือ Financial Stability
และเตือนให้นึกถึงผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน
ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนทั่วโลกมาก แต่ทางการสหรัฐก็สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันเหตุการณ์ ทําให้ความห่วงใยเกี่ยวกับสถาบันการเงินในสหรัฐคลี่คลายลงได้อย่างรวดเร็ว
สะท้อนถึงความสำคัญที่ทางการสหรัฐให้กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารกลางสหรัฐควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพราคาหรือ Price Stability
ในแง่การดําเนินนโยบาย ต้องเข้าใจว่าทั้งเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่สามารถเลือกได้
คือถ้าเศรษฐกิจมีเสถียรภาพราคาคือมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่ระบบการเงินของประเทศขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะไปต่อยาก
เช่นเดียวกัน ถ้าระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพแต่อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูง เศรษฐกิจก็จะมีข้อจำกัดในการขยายตัวและจะไปต่อยากเช่นกัน
ดังนั้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อตํ่าและเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นและต้องรักษาไว้
เราจึงเห็นทางการสหรัฐให้ความสำคัญสูงสุดเข้าแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระดับธนาคารอย่างรวดเร็ว เพื่อปลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพการเงิน ซึ่งทำได้ดี
โจทย์ของธนาคารกลางสหรัฐในการประชุมคราวนี้คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรไปต่ออย่างไร ภายใต้เศรษฐกิจที่กําลังปรับตัวอย่างที่อยากเห็น
อัตราเงินเฟ้อชะลอต่อเนื่องแต่ยังในระดับสูง และความกังวลใจระบบธนาคารในสหรัฐคลี่คลายลง เป็นโจทย์การตัดสินใจที่ง่ายกว่าเทียบกับกรณีของธนาคารกลางสหภาพยุโรปที่ประชุมอาทิตย์ที่แล้ว ที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ซึ่งตลาดการเงินโลกก็ตอบรับการตัดสินใจดังกล่าวในเชิงบวก
ที่ว่าง่ายกว่าก็เพราะ
1) อัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 8.5 สูงกว่าในสหรัฐมาก
2) เศรษฐกิจสหรัฐเข้มแข็งกว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปมากที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ถูกกระทบโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
3) ธนาคารที่มีปัญหาในสหรัฐเป็นระดับท้องถิ่น ขณะที่ธนาคารเครดิตสวิสเป็นธนาคารใหญ่ระดับสากลและจัดอยู่ในกลุ่มธนาคารที่สามารถมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลกได้
นี่คือความแตกต่าง แต่แม้โจทย์จะยากกว่า แต่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปก็ยืนหยัดที่จะทําหน้าที่ของตนในการรักษาเสถียรภาพราคา ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.50 แม้การแก้ปัญหาธนาคารเครดิตสวิสจะเพิ่งจบไป
ประมวลจากข้อมูลและสิ่งที่เกิดขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกร้อยละ 0.50 ของธนาคารกลางสหรัฐในการประชุมอาทิตย์นี้จึงเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้
และมีเหตุมีผลในทางเศรษฐศาสตร์เพื่อแก้ให้ปัญหาเงินเฟ้อจบเร็ว และยืนยันความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงินสหรัฐพร้อมกันไปด้วย คล้ายกับที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปได้ทำ
อย่างไรก็ตาม ความเห็นนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินขณะนี้เกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีความแตกต่างมาก คือส่วนใหญ่อยู่ระหว่างไม่ปรับขึ้น เพราะห่วงผลที่จะมีต่อสถาบันการเงิน
หรือปรับขึ้นเพียงร้อยละ 0.25 เพราะห่วงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ความห่วงใยเหล่านี้มีเหตุผลแต่เป็นความห่วงใยที่จะทำให้การแก้ปัญหาเงินเฟ้อจะช้าลงและยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไป จึงสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางและขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากประสบการณ์ผมเอง มีความเป็นไปได้ที่สิ่งเกิดขึ้นในสถาบันการเงินสหรัฐ
แม้ปัญหาจะได้รับการแก้ไขและคลี่คลายแล้ว แต่ผลกระทบเชิงจิตวิทยาตลาดอาจยังมีอยู่ ทําให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจถูกกระทบทำให้ความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง
ผลคือแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไปอาจอ่อนลงกว่าที่คาดไว้เดิม โดยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมาก แต่เป็นผลของจิตวิทยาตลาดแทน
ดังนั้น คงต้องตามดูว่าเฟดจะตัดสินใจอย่างไร จะไปแบบธนาคารกลางสหภาพยุโรป หรือจะพบกันครึ่งทางโดยใช้จิตวิทยาตลาดเข้าช่วย
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล