สรุปวิกฤติ 'ธนาคารสหรัฐล้มโดมิโน' จาก “Silvergate” ลามสู่ “Credit Suisse”
จากวิกฤตการณ์ธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐ Silvergate, Silicon Valley และ Signature ล้มติดต่อกันในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ และความเสี่ยงลุกลามถึงธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ในสวิตเซอร์แลนด์ สรุปภาพรวมตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันมีที่มาที่ไปอย่างไร
Key Points
- ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้บรรดา Venture Capital ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ SVB ประสบปัญหาทางการเงิน ระดมทุนลำบาก จึงเลือกถอนเงินฝากจำนวนมากออกจากธนาคาร
- ผลกระทบในสหรัฐ ลามถึงเครดิตสวิส ในสวิตฯ ซึ่งทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ต่อระบบการเงินโลก เพราะเชื่อมโยงทั้งลูกค้า และเงินทุนมหาศาลกับยุโรป สหรัฐ หรือแม้แต่เอเชีย
- ธนาคารกลางสวิส เข้าอุ้มธนาคารเครดิตสวิส ด้วยการให้กู้เงินถึงราว 54,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุผล “ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้”
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเรียกว่าเป็นสัปดาห์ "วิกฤติธนาคารล้ม" ก็ว่าได้ หลังเกิดเหตุการณ์ธนาคารสหรัฐล้มติดต่อกัน 3 แห่งในสัปดาห์เดียว ไล่เรียงตามลำดับได้ดังนี้
วันพุธที่ 8 มี.ค. 2566 ธนาคาร Silvergate ซึ่งดำเนินการด้านคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศเลิกกิจการ เพราะผลพวงจากภาวะขาลงคริปโทฯ และต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
- ธนาคาร Silvergate (เครดิต: AFP) -
วันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 สถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือ FDIC สั่งปิดธนาคาร Silicon Valley (SVB) ซึ่งปล่อยสินเชื่อให้กับบรรดาสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสหรัฐ เพราะลูกค้าธนาคารแห่ถอนเงินฝากจำนวนมาก เมื่อรับรู้ปัญหาสภาพคล่อง และการขาดทุนที่สูงของธนาคาร
วันอาทิตย์ที่ 12 มี.ค. 2566 FDIC สั่งปิดธนาคาร Signature ซึ่งเป็นแบงก์คริปโทฯ อีกราย เพราะลูกค้าธนาคารแห่ถอนเงินฝาก เกรงว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ธนาคาร SVB
วันพุธที่ 15 มี.ค. 2566 หุ้นธนาคารเครดิตสวิสหรือ Credit Suisse ธนาคารยักษ์ใหญ่สวิตเซอร์แลนด์ ถูกเทขายอย่างหนัก กดราคาหุ้นร่วง 20% อีกทั้ง CDS หรือตราสารอนุพันธ์ในการประกันการผิดนัดชำระหนี้จากธนาคาร Credit Suisse ก็พุ่งทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความกังวลผิดนัดชำระหนี้และมีโอกาสล้มละลายสูงของ Credit Suisse
- ธนาคาร Credit Suisse (เครดิต: AFP) -
เช้าวันที่ 16 มี.ค. 2566 (ตามเวลาไทย) Credit Suisse กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ สูงถึง 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส ภายใต้โครงการจัดหาเงินกู้แบบครอบคลุม และการจัดหาสภาพคล่องในระยะสั้น
ค่ำวันที่ 16 มี.ค. 2566 (ตามเวลาไทย) หุ้น Credit Suisse ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดีดตัวขึ้นก่อนเปิดตลาดวันพฤหัสบดี ขานรับแบงก์ชาติสวิสอัดฉีดเงิน ขณะที่เงินยูโรและฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นในวันเดียวกัน
- เกิดอะไรขึ้นกับวิกฤติธนาคาร 4 แห่ง
ธนาคาร Silvergate
Silvergate ถือเป็นธนาคารที่ให้บริการฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) และบริการบริษัททำคริปโทฯ โดยลูกค้าของธนาคารแห่งนี้ยังสามารถนำบิตคอยน์ค้ำประกันขอเงินกู้ได้อีกด้วย
เมื่อมองตลาดคริปโทฯ ที่ผ่านมา ปรับตัวลงอย่างรุนแรงมาโดยตลอด จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินนโยบายสายเหยี่ยว ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเร็วและแรง และถอนสภาพคล่องออกจากตลาดเพื่อปราบเงินเฟ้อ
ยิ่งไปกว่านั้น คริปโทฯยังถูกสั่นคลอนจากปัญหาความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีเหรียญ Luna ที่ โด ควอน เจ้าของเหรียญหอบเงินหนี หรือล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว แซม แบงค์แมน-ฟรีด เจ้าของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจาก Binance ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกง โดย FTX เป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร Silvergate ด้วย
สภาพคล่องที่หายไป บริษัท FTX ล่มสลาย รวมไปถึงผู้คนสูญเสียความเชื่อมั่นในตลาดคริปโทฯ ส่งผลให้ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากจากธนาคาร Silvergate จนทำให้ธนาคารต้องยอมขายขาดทุนพันธบัตรสูงถึง 750 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าขาย 5,200 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเงินสดมาจ่ายให้ลูกค้า
การขาดทุนจากตราสารหนี้ประกอบกับธนาคาร Silvergate ยังมีการขาดทุนสะสม 1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทำให้เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารรายนี้จึงประกาศปิดกิจการ
ธนาคาร Silicon Valley (SVB)
ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่รุนแรงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อปราบเงินเฟ้อ แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มต้นทุนทางการเงินด้วย ส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมากและต้องเร่งขยายตลาด และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็น “ลูกค้าหลัก” ของธนาคาร Silicon Valley (SVB) ต่างประสบปัญหาทางการเงิน ระดมทุนลำบาก จึงเลือกถอนเงินฝากจำนวนมากออกจากธนาคาร
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธนาคาร SVB ขาดสภาพคล่อง เพราะเงินสำรองของธนาคาร SVB จำนวนมากอยู่ใน “พันธบัตรระยะยาว” ธนาคารจึงจำเป็นต้องขายขาดทุนพอร์ตพันธบัตรระยะยาวออกไป 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ รับรู้ขาดทุนจริงทันที 1.8 พันล้านดอลลาร์!
ภาวะขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตร และการถูกลดความน่าเชื่อถือลงของธนาคาร SVB ทำให้แผนเพิ่มทุนที่วางไว้ต้องพังทลายลง เพราะเกิดปรากฏการณ์ “Bank Run” ที่ประชาชนและภาคธุรกิจแห่ถอนเงินฝากกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเงินฝากติดลบ
ต่อมา วันที่ 10 มี.ค. 2566 หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคารสหรัฐ (FDIC) ได้ตัดสินใจเด็ดขาด สั่งปิดกิจการธนาคาร SVB และเข้าควบคุมสินทรัพย์ของธนาคารรายนี้ด้วย
- มาร์ติน กรันเบิร์ก หัวหน้าหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคารสหรัฐ (FDIC) (เครดิต: AFP)-
ธนาคาร Signature
Signature ถือเป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และได้รับผลกระทบหนักหลังจากวิกฤติแบงก์ล้มในสหรัฐขยายวงสู่อุตสาหกรรมคริปโทฯ
ภาวะตลาดหมีคริปโทฯที่รุนแรง ทำให้สภาพคล่องธนาคารรายนี้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับธนาคาร Silvergate ประกอบกับกระแสการล้มของธนาคาร SVB ทำให้ผู้คนยิ่งแห่มาถอนเงินจากธนาคาร Signature ด้วย จึงยิ่งทำให้สภาพคล่องหดหายรุนแรงกว่าเดิม
ทาง FDIC จึงจำเป็นต้องปิดธนาคาร Signature เพิ่มอีกราย เพื่อสกัดผลกระทบโดมิโนนี้ ไม่ให้ลุกลามไปธนาคารอื่นอีก
- ธนาคาร Signature (เครดิต: AFP) -
หลังจากการล้มของธนาคารทั้งสามราย ในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานทางการเงินสำคัญของสหรัฐ ได้แก่ เฟด, FDIC และกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศคุ้มครองเงินฝากลูกค้าธนาคาร SVB และธนาคารพาณิชย์อีกรายอย่าง Signature Bank “เต็มจำนวน” ไม่จำกัดเพียง 250,000 ดอลลาร์อีกต่อไป เพื่อลดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน และฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ เฟดยังประกาศตั้งโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้เงินกู้เพิ่มสภาพคล่องแก่ธนาคารทั้งหลายด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ธนาคารสหรัฐ ณ ขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse)
ธนาคารเครดิตสวิสแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2399 หรืออายุกว่า 167 ปี มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ รองจากธนาคาร UBS โดยมีสำนักงานใหญ่ในเมืองซูริค
ธนาคารแห่งนี้นับว่าทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ต่อระบบการเงินโลก เพราะเชื่อมโยงทั้งลูกค้า และเงินทุนมหาศาลกับยุโรป สหรัฐ หรือแม้แต่เอเชีย จึงมีความสำคัญเทียบเท่าระดับธนาคาร Bank of America, Citigroup, JP Morgan Chase, Morgan Stanley, UBS, ฯลฯ
อีกทั้งธนาคาร Credit Suisse ยังมีสินทรัพย์ 5.7 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าธนาคาร SVB ที่มีสินทรัพย์ 2 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคาร Silvergate ที่มีสินทรัพย์ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ชนิดเทียบไม่ติด
จากนั้น เกิดความโกลาหลขึ้น เมื่อ CDS หรือตราสารอนุพันธ์ในการประกันการผิดนัดชำระหนี้จากธนาคาร Credit Suisse พุ่งทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความกังวลผิดนัดชำระหนี้ และมีโอกาสล้มละลายสูงของธนาคาร Credit Suisse
ความเสี่ยงล้มละลายยิ่งถูกซ้ำเติม เมื่อธนาคารแห่งชาติซาอุฯ (SNB) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ Credit Suisse ตัดสินใจปฏิเสธเพิ่มทุนให้ โดยยกเหตุผลว่า เพราะจะทำให้ธนาคารแห่งชาติซาอุฯ ถือหุ้นใน Credit Suisse เกิน 10% ซึ่งผิดกฎระเบียบธนาคาร ราคาหุ้น Credit Suisse จึงร่วงอีก 20% เมื่อวันพุธที่ 15 มี.ค. 2566
อันที่จริงเมื่อดูงบการเงินปี 2565 ที่ผ่านมา ธนาคาร Credit Suisse มีการขาดทุนสุทธิราว 7,300 ล้านฟรังก์สวิส หรือราว 270,000 ล้านบาท
ราคาหุ้นนับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดที่ 83 ฟรังก์สวิสเมื่อเดือน พ.ค. 2550 ก็ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า 97% แล้ว จนถึงปัจจุบันอยู่ที่เพียง 2.03 ฟรังก์สวิส
ความเสี่ยงล้มละลายนี้ทำให้ ธนาคารกลางสวิส ตัดสินใจเข้าอุ้ม Credit Suisse ด้วยการให้กู้เงินสูงถึงราว 54,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ล้านล้านบาท เหตุผลเพราะธนาคารนี้ถือเป็นยักษ์ใหญ่ระดับที่ปล่อยให้ล้มไม่ได้ จึงต้องช่วยเต็มที่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์และเสถียรภาพการเงินสวิส
จากภาพรวมเหตุการณ์ธนาคารล้มนี้ สะท้อนว่า การล้มของธนาคารสหรัฐ ได้ลุกลามไปถึงธนาคารในยุโรปแล้ว เพราะเงินกู้ เงินทุน เงินสนับสนุนธุรกิจใด ๆ ในโลกล้วนเชื่อมโยงกัน ดังนั้นการล้มของธนาคารรายหนึ่ง ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับอีกฟากหนึ่งของโลกให้ล้มตามได้
ขณะนี้ตลาดกำลังมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ และยุโรปมีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนเป็นพักขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวก่อนก็เป็นได้ เพื่อหยุดยั้งการล้มของธนาคารรายอื่น ๆ ในอนาคต และจัดการความเปราะบางทางเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก
อ้างอิง: aljazeera cnn cnbc bloomberg fdic nytimes nytimes(2) medium reuters