SME D Bank ปักหมุดบริหารหนี้เสียไม่เกิน10%

SME D Bank ปักหมุดบริหารหนี้เสียไม่เกิน10%

SME D Bank ชี้ภาพรวมเอสเอ็มอียังเผชิญกับสภาพตลาดที่ยังผันผวน การบริหารจัดการหนี้เสียจึงเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเลขสองหลัก ขณะที่ การปล่อยสินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้มีเป้าหมายถึง 8 หมื่นล้านบาท

SME D Bank ได้ฝ่าวิกฤตหนี้เสียจากที่เคยอยู่ในระดับสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือราว 40% ของพอร์ตสินเชื่อเมื่อปี 2558 ปัจจุบัน ภายใต้แกนนำ “นารถนารี รัฐปัตย์ “กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บริหารหนี้เสียให้ปรับลดลงเหลือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือ 9.7% ของพอร์ตสินเชื่อประมาณ 1 แสนล้านบาท

นารถนารีเล่าว่า แม้ส่วนหนึ่งของการบริหารหนี้เสียให้ลดลงจะเกิดจากการขายหนี้เสียออกไป แต่การบริหารจัดการหนี้เสียในภาพรวม ผ่านการเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ และดูแลด้านการตลาด ทำให้คุณภาพของลูกหนี้ดีขึ้น ซึ่งเราตั้งเป้าหมายจะรักษาระดับหนี้เสียของแบงก์ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเลขสองหลัก

“เมื่อครั้งเราเข้าแผนฟื้นฟูกิจการปี 2558 เรามีหนี้เสียอยู่ 40% ของพอร์ตสินเชื่อ เราก็แก้ปัญหามาตลอดทั้งการฟื้นฟูลูกหนี้ และ รวมถึง การขายหนี้ออกไป แต่การขายหนี้ออกไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของราคาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม เราก็จัดพอร์ตหนี้ และ สามารถขายหนี้ออกไปได้ ทำให้หนี้เสียลดลงได้ โดยในปีที่แล้ว หนี้เสียเราอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันหนี้เสียอยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ ในหนี้เสียก้อนนี้ มีเหนี้เสียเก่าอยู่ 7.8 พันล้านบาท ส่วนหนี้ก้อนใหม่มีประมาณ 3 พันล้านบาท  แสดงว่า ตั้งแต่ 2558 ถึงปี 2565 ที่เราปล่อยสินเชื่อไป 7 ปี เรามีหนี้เสียใหม่ไม่เกิน 3% ถือว่า เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับหนี้เสียในระบบ ฉะนั้น ก็สะท้อนว่า การดำเนินงานของเรามีการควบคุมที่ดีแล้ว

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด ทำให้ลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ โดยในส่วนลูกค้าของแบงก์เองนั้น พบว่า มีมูลหนี้เกือบ 2 หมื่นล้านบาท ที่มีสถานะอ่อนแอ กล่าวคือ มีสถานะที่ยังชำระหนี้ได้แต่ก็มีโอกาสตกเป็นหนี้เสีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะฝ่ายกำกับดูแลมีความเป็นห่วง

“แบงก์ชาติเขากังวลว่า พอร์ตลูกค้าที่กังวล คือ พอร์ตที่ปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์มีลูกค้าเอสเอ็มอี เรามีเกือบ 2 หมื่นล้านที่มีสถานะอ่อนแอ กล่าวคือ ยังจ่ายได้ แต่มีโอกาสตกเป็นหนี้เสีย แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความอ่อนแอของลูกค้า ไม่ได้เกิดจากการบริหารที่ไม่ดี ไม่ได้เกิดจากการควบคุมสินเชื่อที่ไม่ดี”

อย่างไรก็ดี แบงก์เองมีหน่วยงานดูแลพิเศษ เมื่อเกิดการชำระหนี้ช้า และมีหน่วยงานพัฒนาผู้ประกอบการโดยเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ในแต่ละปีเรามีเป้าหมายเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยปีนี้ มีเป้าดูแลผู้ประกอบการราว 1.5 หมื่นราย จากปกติที่เข้าไปดูแลลูกค้าประมาณ 5-6 พันรายต่อปี

“ในช่วงที่เกิดโควิด เรามีเป้าหมายเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เน้นกลุ่มที่เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉลี่ยปีละ 1-2 หมื่นราย โดยให้คำแนะนำเรื่องการเงิน การตลาด ปีนี้ ก็ยังตั้งเป้าหมายสูง เพราะยังเป็นช่วงที่ต้องติดตาม ขณะเดียวกัน อีกมิติหนึ่งที่เราดูแล คือ กลุ่มลูกค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ก็จะเข้าไปให้คำแนะนำ เพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้”

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น แม้ในช่วงโควิด ทางธนาคารก็ยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 สินเชื่อปล่อยได้ 4.9 หมื่นล้านบาท ปี 2565 สินเชื่อปล่อยได้ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 40% ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายสินเชื่อ 8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาทจากปี 2565 

สาเหตุที่ยอดปล่อยสินเชื่อเราขยายตัวได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น ส่วนสำคัญเป็นเพราะเราสามารถขยายวงเงินการปล่อยกู้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท โดยในวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยได้ในปีที่แล้วจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อในวงเงินที่มากกว่า 15 ล้านบาทได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะลงทุนเพิ่มเพราะตลาดยังผันผวน ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น การดำเนินธุรกิจจึงยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง สำหรับภาพรวมของรายได้ผู้ประกอบการนั้น ในช่วงหลังโควิดรายได้ยังลดลงประมาณ 12-15% จากเดิมที่เคยลดลงประมาณ 20-30%  ทั้งนี้ สินเชื่อที่เราปล่อยไปนั้น ราว 60% ผ่านการค้ำประกันของบสย.

ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร เราพบปัญหาว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่มีหนี้กระจายอยู่หลายสถาบันการเงิน และมีต้นทุนไม่เหมือนกัน จึงกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้น ทางธนาคารจึงจัดโปรแกรมสินเชื่อที่เรียกว่า เอสเอ็มอี ดี พร้อม วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สนับสนุนการรีไฟแนนซ์หนี้มาไว้ที่ธนาคาร อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5.75%  โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี ได้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้จัดวงเงินสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วงเงิน 5,000- 10,000 ล้านบาท หลังจากแนวโน้มในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการจดทะเบียนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท และยังได้ออกสินเชื่อสำหรับสิ่งแวดล้อม BCG สนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีสภาพคล่อง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท นาน 15 ปี และเว้นการชำระหนี้เงินต้นนาน 2 ปี  วงเงินให้กู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน หลังจากที่ประเมินว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 28 ล้านคน จากปี 2565 ประมาณ 15 ล้านคน จึงได้จัดสินเชื่อสปีด อัพ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีในธุรกิจบริการและท่องเที่ยววงเงินให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเพราะส่วนใหญ่เอสเอ็มอีเหล่านี้ใช้งบในการตั้งต้นธุรกิจประมาณ 3-5 ล้านบาท 

“แผนการดูแลเอสเอ็มอีเราปีนี้ จะโฟกัสไปที่เอสเอ็มอีกลุ่มเล็ก และกลุ่ม BCG และกลุ่มก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง บริการ และท่องเที่ยว ตามจังหวัดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ โดย SME D Bank มีแหล่งทุนมาจากการออกพันธบัตร และใช้เงินฝากของสถาบัน และในปี 2566 นี้ หากการดำเนินการพัฒนาคอลแบงก์และโมบายสำเร็จ จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 การให้บริการลูกค้าสะดวก และเข้าถึงเราได้เร็วขึ้น”