บลจ.ยูโอบี แนะลงทุน'หลบพัก-ชิงจังหวะ'ในกองทุน ฝ่าวิกฤติแบงก์สหรัฐ-ยุโรป
บลจ.ยูโอบี ชี้วิกฤติความเชื่อมั่นแบงก์ในสหรัฐ-ยุโรป ฉุดตลาดการลงทุนยัง "ผันผวนสูง" แนะนักลงทุนที่กังวลหลบพักเงินในกองทุนตลาดเงินในประเทศ แต่หากรับความเสี่ยงได้ ชิงจังหวะนี้ทยอยลงทุน กองทุนหุ้นเติบโต -หุ้นคุณภาพ ธีม EV- ESG- Clean Energy ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
ธนาคาร Credit Suisse (CS) เผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านความเชื่อมั่นโดยมีสาเหตุมาจากความวุ่นวายในตลาดการธนาคารของสหรัฐในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนของลูกค้าจำนวนมาก
แม้ว่าก่อนหน้านี้ CS ได้มีการปรับโครงสร้างธนาคารให้มีเสถียรภาพมากขึ้นและมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการลดต้นทุน เช่นการลดจำนวนพนักงานลง การเสริมฐานทุนด้วยการเพิ่มทุน และลดความเสี่ยงในงบดุล ด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น Structured Product Group ให้ Apollo อย่างไรก็ตามธนาคารไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและไม่สามารถจัดการ การไหลออกของเงินฝากได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการลงทุนและมุมมองต่อการลงทุนด้วยสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้จัดการกองทุน บลจ.ยูโอบี คาดว่าความผันผวนจะยังคงมีอยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนโดยเฉพา ในกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินของยุโรปและอเมริกา
ทั้งนี้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุนใน CS จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของหลักทรัพย์หรือตราสารที่ลงทุน โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้ของ CS ก็จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลำดับขั้นในการชำระคืนหนี้จากโครงสร้างของเงินทุนของ CS โดยภายหลังการควบรวมระหว่าง 2 ธนาคาร จะส่งผลให้ Senior Debt ของ CS ทั้งหมด ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของ UBS
ดังนั้น ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) ของ Credit Suisse และ CoCos Tier 2 (หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2) จะกลายเป็นหนี้สินของ UBS ซึ่งเป็นธนาคารที่มีคุณภาพสูงกว่า
ทั้งนี้ จากแถลงการณ์ของ FINMA ระบุว่าอาจจะเกิดการตัดมูลค่า (Write-down) หุ้นกู้ด้อยสิทธิ AT1 (Additional Tier1 หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1) ทั้งหมดของ Credit Suisse ในจำนวนประมาณ 17,000 ล้านฟรังซ์สวิส จะส่งผลให้ตราสาร AT1 จะถูกปรับลดมูลค่าเป็นศูนย์
แม้การเคลื่อนไหวล่าสุดจากที่ทางการและหน่วยงานกำกับดูแลได้แสดงถึงการตัดสินใจและการดำเนินการที่รวดเร็ว ได้ช่วยลดความกังวลของตลาดลงระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บลจ.ยูโอบีมองว่ายังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าธนาคารกลางสวิสฯ จะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามได้เมื่อใด
เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญกับระบบการเงินโลก (Global Systematic Bank : GSIBs)
ทั้งนี้ หากนักลงทุนที่กังวลกับความผันผวน อาจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์และประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดให้ชัดเจนขึ้น โดยพักเงินในกองทุนตลาดเงินในประเทศ
ส่วนนักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้อาจอาศัยจังหวะนี้ทยอยลงทุน (Buy On Dip) ในกองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth Stock) ที่มีความสามารถในการสร้างกำไรที่สม่ำเสมออย่างหุ้นกลุ่มคุณภาพ (Quality Growth) และธีมการลงทุนที่เป็น Secular Trend อย่าง (EV, ESG, Clean Energy) ที่มีพื้นฐานรองรับการเติบโตที่ชัดเจน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
โดยความความคืบหน้าของสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา บลจ.ยูโอบี สรุปในเบื้องต้นได้ดังนี้
15 มีนาคม 2566 : มีการขายหุ้นธนาคาร Credit Suisse (CS) อย่างหนัก เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลที่เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผันผวนและความเชื่อมั่นที่สั่นคลอนในภาคธนาคาร ทั้งนี้ CS ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากหลังจากทาง Saudi National Bank ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CS ที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 9.88% แจ้งว่าไม่สามารถสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมต่อ CS ได้ ส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลมากขึ้นโดยราคาหุ้นของ CS มีการปรับตัวลดลง -24% และราคาตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS) ดีดตัวสูงขึ้น โดย 5-year CDS ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 533 bps สู่ระดับ 842 bps ในวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา
16 มีนาคม 2566 : CS ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือที่วงเงินสภาพคล่องรวม 50,000 ล้านฟรังซ์สวิส โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank : SNB) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Financial Market Supervisory Authority : FINMA) ได้ออกมาประกาศพร้อมที่จะช่วยเหลือทางธนาคารเพิ่มเติมหากจำเป็น ทั้งนี้ SNB และ FINMA ได้แสดงความเห็นต่อฐานทุนของ CS ว่า ณ สิ้นปี 2565 นั้น CS มีระดับ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Common Equity Tier 1 : CET1) ที่ 14.1% สูงกว่าที่ทางการกำหนดไว้ที่ประมาณ 9% และมี Liquidity Coverage Ratio (LCR) ที่ 144%
19 มีนาคม 2566 : ทางการสวิส : ซึ่งรวมถึง รัฐบาล, SNB และ FINMA ได้แถลงว่า UBS ตกลงที่จะเข้าซื้อกิจการ CS ในข้อตกลงมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านฟรังซ์สวิส และ Swiss National Bank (SNB) ตกลงที่จะเสนอวงเงินสภาพคล่องสูงถึง 110,000 ล้านฟรังซ์สวิส แก่ UBS ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินการเข้าซื้อกิจการ และจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดของทั้งสองธนาคารต่อไปได้โดยไม่มีข้อจำกัดหรือการหยุดชะงัก