เวนเจอร์แคปฯ ลดความเสี่ยงลงทุน เน้นเลือก‘เทคสตาร์ตอัป’ทำกำไร
เวนเจอร์แคปฯ เดินหน้าลงทุนสตาร์ตอัป 'กรุงศรี ฟินโนเวต' คงงบลงทุนปีนี้ 1.3 พันล้านราว 10 บริษัท เน้นสตาร์ตอัปเทคโนโลยี สร้างกำไร ‘บีคอน เวนเจอร์’ มองแบงก์สหรัฐล้มอาจกระทบทางอ้อม
นักลงทุนระวังมากขึ้น “โออาร์” ติดตามสถานการณ์ “เอสวีบี” ใกล้ชิด สกัดเสี่ยงลงทุนสตาร์ตอัป ให้นโยบายกองทุนเปิดบัญชีกับธนาคารที่มีเรตติ้งสูง' ด้าน “วีซี” ใน ซิลิคอน วัลเลย์ แนะสตาร์ตอัปไทยต้องมี ‘Global Mindset’
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เม็ดเงินสภาพคล่องตึงตัว กระทบต่อบริษัทสตาร์ตอัป อาจจะระดมทุนได้ยาก
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรีฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยว่า แม้จะมีวิกฤติระบบธนาคารในสหรัฐ และยุโรปล้ม แต่นโยบายลงทุนสตาร์ตอัปปีนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้ประเมินเหตุการณ์มองว่า เป็นปัญหาเฉพาะของสถาบันการเงินนั้นๆ ไม่ได้ลุกลาม และไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ขณะเดียวกันทั้งบริษัท และกองทุน VC (Venture Capital) ทั่วโลก ได้ปรับนโยบายการลงทุนสตาร์ตอัปมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเลือกลงทุนเฉพาะสตาร์ตอัปที่เข้าใจ และเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด สร้างกำไรในระยะเวลาที่เหมาะสมอย่างแท้จริง จากเดิมลงทุนเพื่อให้สตาร์ตอัปใช้เงินลงทุนเต็มที่
อีกทั้งเงินลงทุนของบริษัทไม่มีปัญหา เพราะมีเงินในกองทุน Finnoventure Fund วงเงิน 2,700 ล้านบาท ยังมีเงินลงทุนเหลืออีกมาก พร้อมสนับสนุน ดังนั้นปี 2566 จะพยายามลงทุนในสตาร์ตอัปให้ได้ตามเป้าที่ 1,300 ล้านบาท จำนวน 10 ดีล แบ่งเป็นช่วงครึ่งปีแรกราว 5-6 ดีล และครึ่งปีหลังอีก 5-6 ดีล วงเงินลงทุนเฉลี่ยต่อดีลราว 100 ล้านบาท
“การลงทุนสตาร์ตอัปในไทย และประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งภายในครึ่งแรกของปีนี้จะลงทุนสตาร์ตอัป 5 ดีล แบ่งเป็นในประเทศไทย 3 ดีล , อินโดนีเซีย 1 ดีล และเวียดนาม 1 ดีล”
เน้นสตาร์ตอัปหนุนธุรกิจแบงก์
นายแซม กล่าวต่อว่า บริษัทจะเน้นลงทุนสตาร์ตอัปที่มีเทคโนโลยี ช่วยเสริมศักยภาพให้ลูกค้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ดำเนินธุรกิจเร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการในโรงงาน ระบบทำบัญชี ระบบบริหารงานบุคคล เป็นต้น
รวมถึงเป็นสตาร์ตอัปที่ยังสามารถรอดในวิกฤติโควิด และเงินเฟ้อสูงช่วงที่ผ่านมาได้ เชื่อว่า สตาร์ตอัปลักษณะนี้ยังมีอยู่พอสมควร แต่ไม่มากแล้ว และสตาร์ตอัปที่ธุรกิจสามารถเติบโตในต่างประเทศยังมีน้อย
“ตอนนี้อยู่ในเทรนด์ธุรกิจหลังโควิดต้องทรานส์ฟอร์มเพิ่มประสิทธิภาพ ลูกค้าของธนาคารกรุงศรี ไม่จำเป็นต้องไปหาเทคโนโลยีเอง แต่เราสามารถหาโซลูชันให้สามารถใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ได้ในราคาพิเศษ ”
ส่วนในต่างประเทศ จะมุ่งเน้นการลงทุนสตาร์ตอัปเกี่ยวกับฟินเทค และเทคโนโลยี เป็นโอกาสทางธุรกิจสาขาธนาคารในเวียดนามและอินโดนีเซีย เพราะธนาคารต่างประเทศยังไม่ขยับเรื่องนี้มากนัก แน่นอนว่าฟินเทคในไทยต้องปรับตัว หากสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของแบงก์ได้ เช่น โอนเงินข้ามประเทศ ปล่อยกู้ P2Pง่ายขึ้น ก็มองว่ายังมีโอกาส แม้แบงก์ไทยจะปรับตัวกับดิจิทัลได้รวดเร็วจนทำทุกอย่างได้เแทนฟินเทค
เดินหน้าตั้งกองทุนสตาร์ตอัปขนาดเล็ก
ด้านธุรกิจบล็อกเชน ยังชะลอแผนลงทุนไปก่อน จากภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่งจะรอจนกว่าสถานการณ์ต่างๆมีความชัดเจน ขณะที่กรณี ปัญหา บริษัท ซิปแมกซ์ ส่อล้มละลาย เท่าที่ทราบทางผู้บริหารยังพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ หากล้มจริงก็ไม่กระทบ เพราะเป็นการลงทุนสตาร์ตอัปทั่วไป หากไม่สำเร็จก็ ตัดหนี้สูญ
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าที่จัดตั้งกองทุนลงทุนในสตาร์ตอัปขนาดเล็กตามแผน คาดไตรมาส 3 ปีนี้น่าจะมีความชัดเจน และมองว่าครึ่งปีหลังปีนี้ ภาวะการลงทุนน่าจะเริ่มนิ่ง และดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จุดสูงสุดแล้ว เมื่อเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยต่ำ เป็นจังหวะลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่น ซึ่งนักลงทุนอาจต้องหาแหล่งลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม
เดินหน้าลงทุนตามแผน
นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) กล่าวว่า กรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ล้มนั้น สตาร์ตอัปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาก เนื่องจาก SVB ไม่ได้มี footprint ใน region นี้ แต่อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากบรรยากาศลงทุน ของนักลงทุนขยับไปในทิศทางระวังมากขึ้น และใช้เวลาเพื่อทำ due diligence นานขึ้น
โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงบริษัท ทำให้ระยะเวลาเพื่อการทำ fund raising ใช้เวลานานมากขึ้น ดังนั้นสตาร์ตอัปที่กำลังคิดเรื่องระดมทุน อาจต้องเตรียมตัว และพูดคุยกับนักลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้ สตาร์ตอัปควรลดการทำ cold pitching เพื่อหานักลงทุน เป็นการทำ warm pitch ผ่านการ keep relationship และค่อยๆ collaborate และ update กับนักลงทุนไป
ในส่วนของ บีคอน วีซี ยังลงทุนในสตาร์ตอัปเหมือนเดิม เน้นลงทุนเพื่อช่วยหาเทคโนโลยีมาต่อยอดธุรกิจธนาคาร ทั้งการลงทุนแบบ Synergistic Investment, Opportunistic Investment, และ Impact Investment โดยบีคอน วีซี จะเน้นให้ความสำคัญศึกษาความเสี่ยงของธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะความปลอดภัย และการบริหารความเสี่ยงของทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ
เป็นโอกาสลงทุนในราคาที่เหมาะสม
นายธนพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ SVB เรามองว่า สภาพตลาดช่วงนี้เป็นช่วงโอกาสที่ดีอยู่แล้ว เนื่องจากความคาดหวังด้าน valuation ปรับตัวลง และสร้างโอกาสให้ บีคอน วีซี สามารถลงทุนในสตาร์ตอัป ที่มีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น นอกจากนี้ เช่นเดียวกับหลายๆ วิกฤติที่เกิดขึ้น จะส่งสัญญาณให้สตาร์ตอัปให้ความสำคัญสร้างพื้นฐานบริษัทที่ดียิ่งขึ้น ทำให้หลังวิกฤติ สุขภาพของระบบนิเวศน์ของสตาร์ตอัปมีความแข็งแกร่งขึ้น
สำหรับเม็ดเงินลงทุนปีนี้ยังคงเดิมไม่จำเป็นต้องปรับ เพียงแต่ต้องให้เวลาในการศึกษาธุรกิจ และความเสี่ยงมากขึ้น
โดยการลงทุนยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะบริษัทได้มีการลงไปศึกษาความเสี่ยงของธุรกิจอย่างเชิงลึกอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจที่ทางบริษัทเข้าไปลงทุนเหมือนเดิมคือ ลงทุนเพื่อตอบโจทย์ธนาคาร ให้เป็นธนาคารที่ตอบโจทย์ลูกค้า สร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม และมีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแรงขึ้นต่อไป
OR สกัดเสี่ยงลงทุนสตาร์ตอัป
บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีนโยบายที่จะลงทุนกับสตาร์ตอัป เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไลฟ์สไตล์ของกลุ่ม ปตท.โดยปลายปี 2564 ได้ร่วมกับกองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks ตั้งกองทุนออร์ซอน เวนเจอร์ส (ORZON Ventures, L.P.) โดยมีมูลค่าการลงทุนเริ่มแรก 25 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัปใหม่ในไทยและอาเซียน
ทั้งนี้ OR ลงทุนในสตาร์ตอัป ประกอบด้วย 1.Pomelo แพลตฟอร์และแบรนด์ Fast Fasion 2.GoWabi แพลตฟอร์มบริการความงามและสุขภาพ 3.Freshket แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบอาหารครบวงจร
4.arsome แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์มือ 2 ออนไลน์ 5.Protomate ผู้นำฮาร์ดแวร์และ AI สัญชาติไทย 6.Hangry สตาร์ตอัปด้านอาหาร พัฒนา Clound Kitchen
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ ORion บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า OR ลงทุนในสตาร์ตอัปทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรงจาก OR และการลงทุนผ่านกองทุน Venture Capital ที่ OR เข้าไปลงทุน
ทั้งนี้ เพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต OR มีนโยบายให้กองทุนเปิดบัญชีกับธนาคารที่มี Credit Rating ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม และโอนย้ายเงินฝากออกจาก SVB โดย OR ก็ได้มีการติดตามสถานการณ์เพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ลูกค้าเป้าหมายหลักของธนาคาร ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของแคลิฟอร์เนียประสบปัญหาทางการเงิน และถูกสำนักงานประกันเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corp.) สั่งปิดนั้น ซึ่งสตาร์ตอัปที่ OR ลงทุนโดยตรงไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะประกอบธุรกิจในอาเซียน และไม่ได้มีบัญชีเงินฝากที่ SVB
สำหรับ Venture Capital ที่ OR เข้าลงทุนบางแห่งมีบัญชีเงินฝากที่ SVB แต่ไม่กระทบเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และ FDIC มีนโยบายรับประกันเงินฝากที่ SVB เต็มจำนวนปัจจุบันผู้ฝากเงินก็เข้าถึงเงินฝากที่ SVB ได้ตามปกติ
เน้นฟินเทคเกี่ยวกับไฟแนนซ์
นางสาวไพลิน วิชากูล Chief Operating Officer and Partner – Venture Capital บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) กล่าวว่า วงเงินการลงทุนในปีนี้ ยังอยู่ในงบการลงทุนทั้งหมด ซึ่งมี Fund size อยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์
การลงทุนสตาร์ตอัปนั้น SCB 10X โฟกัสและให้ความสำคัญด้านฟินเทคมากที่สุด โดยเฉพาะ ที่เกี่ยวกับด้านไฟแนนเชียล เซอร์วิส เช่น บล็อกเชน, Digital Asset และด้านอื่น ๆ ของบล็อกเชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มองว่ามีโอกาสที่จะเข้ามา ดิสรัปธนาคาร หรือไฟแนนเชียล เซอร์วิส โดยปี 2566 ยังโฟกัสการลงทุนต่อเนื่องในสตาร์ตอัปด้านฟินเทคจากทั่วโลก นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจเข้าลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน DeepTech เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ AI/Machine Learning
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจ อาจส่งผลให้สตาร์ตอัปต่างๆ raise fund ยากขึ้น ดังนั้นจะเลือกพิจารณาลงทุนในสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง มีจุดเด่นในเชิงเทคโนโลยี และมีความสามารถในการสร้างรายได้ที่ชัดเจน
เดินหน้าปล่อยกู้สตาร์ตอัปในไทย
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME D Bank) กล่าวว่า กรณีปัญหาปิดแบงก์ SVB ที่ปล่อยกู้ให้สตาร์ตอัปจะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาการปล่อยกู้ให้กับสตาร์ตอัป เนื่องจาก แต่ละสถาบันการเงินของไทยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาชัดเจนไว้อยู่แล้ว
สำหรับ SME D Bank มีหลักเกณฑ์และพิจารณาความเสี่ยงร่วมกัน เพื่อให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัปอย่างชัดเจน มีระบบ Check & Balance ป้องกันความเสี่ยง เช่น ดูจากแผนธุรกิจชัดเจน สัดส่วนผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์การขอสินชื่อ หรือประวัติการชำระหนี้ เป็นต้น
ธนาคารมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มสตาร์ตอัป ที่เป็นธุรกิจสอดคล้องสร้างประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจสอดคล้องกับ BCG กลุ่มธุรกิจ S-Curve
++++++++++++ล้อม+++++++++++
แนะสตาร์ตอัปไทย ต้องมี ‘Global Mindset’
จี๊ป ไคลน์ (Jeep Kline) ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน VC ใน ซิลิคอน วัลเลย์ และProfessional Faculty at UC Berkeleyสหรัฐอเมริกา กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ” ว่ากองทุนที่บริหารอยู่ ได้ถอนออกมาก่อนที่ เอสวีบี จะล้ม ซึ่งเป้าหมายของกองทุนฯ จะเน้นลงทุนสตาร์ตอัปในละตินอเมริกาเป็นหลัก เลือกผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจที่มี Impact ต่อสังคม มีผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศ
“การเป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่การเป็นยูนิคอร์น แต่ธุรกิจนั้นต้อง Create Impactได้ สตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จ ต้องไปถึงขึ้น M&A หรือการได้ทำ IPO เราไม่ได้มองความสำเร็จของสตาร์ตอัปในเชิงมูลค่า แต่เรามองคุณภาพและการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศได้”
จี๊ป บอกว่า สตาร์ตอัปที่อยู่ในเรดาร์ของผู้ลงทุน ต้องมีโกลบอล มายด์เซต (Global Mindset) หรือการตั้งเป้าหมายว่าสตาร์ตอัปต้องสามารถสเกลเกินระดับประเทศได้ต่อมา คือ ต้องระวังเรื่องการประเมินมูลค่าบริษัท (Valuation) ที่สูงเกินไป ทั้งที่ยังไม่มีกำไร
นักลงทุนที่ไปลงทุนกับสตาร์ตอัปในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เป็นเพราะมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่ายในส่วนของ โอเปอเรชั่นที่ต่ำกว่าสตาร์ตอัปใน ซิลิคอน วัลเลย์ แต่ถ้าประเมินออกมาแล้ว สตาร์ตอัปในประเทศเหล่านี้ มีมูลค่าสูงกว่าในซิลิคอน วัลเลย์ ก็ไม่มีนักลงทุนคนไหนกล้าเสี่ยงเข้าไปลงทุน
จี๊ป บอกว่า ในส่วนของวีซีที่ดูแลอยู่จะไม่เน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยา ไบโอเทค เพราะต้องมีเรื่องไอพี เข้ามาเกี่ยวข้อง จะไม่เน้นลงทุนในธุรกิจที่ยังไม่สามารถทำเป็นคอมเมอร์เชียลได้ทันที เช่น ควอนตัม คอมพิวติง
“สิ่งที่วีซีจะเน้นเข้าไปลงทุนคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ การศึกษา (Ed Tech) ฟินเทค ฟู้ดเทค บีทูบี เอ็นเตอร์ไพร์ส ธุรกิจด้านการเกษตร (agriculture)”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์