‘ทุนจีน’ ไล่ซื้อ อสังหาฯ ทั่วเอเชียหลังโควิดคลี่คลาย มีไทยด้วยเหตุราคาถูก 

‘ทุนจีน’ ไล่ซื้อ อสังหาฯ ทั่วเอเชียหลังโควิดคลี่คลาย มีไทยด้วยเหตุราคาถูก 

นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แหล่งข่าวรอยเตอร์ ระบุ ชาวจีนสนใจเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเอเชีย ทั้ง สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย รวมถึงออสเตรเลีย หลังสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ข้อมูลชี้เงินฝากในสกุลเงินต่างประเทศแบงก์พาณิชย์จีนย่อตัว 16.2%  

Key Points

  • เงินทุนจีนเริ่มไหลเข้าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียหลังสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น 
  • ดีมานด์จากชาวจีนส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้น
  • นอกจากนี้ความต้องการซื้อดังกล่าวกำลังไหลเข้ามาในประเทศไทยด้วย
  •  เงินฝากในสกุลเงินต่างประเทศในธนาคารพาณิชย์ของจีนลดลง 16.2% 
  • กูรูชี้ราคาอสังหาริมทรัพย์หรูในไทย-มาเลเซียราคาถูกมากอยู่เพียงประมาณ 9.9 ล้านบาทเท่านั้น

หลังจากรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ล่าสุด (3 เม.ย. 2566) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เงินทุนจากประเทศจีนเริ่มไหลเข้าไปตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักเป็นเวลากว่า 3 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด-19  

ทั้งนี้ ความต้องการซื้อ (Demand) จากชาวจีนมีส่วนช่วยให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้น และขณะนี้นักเรียนชาวจีนในออสเตรเลียกำลังกว้านซื้ออะพาร์ตเมนต์ในนครซิดนีย์และกรุงเมลเบิร์นอย่างร้อนแรง 

ส่วนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แหล่งข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า

“ความต้องการซื้อดังกล่าวกำลังไหลเข้ามาในประเทศไทยเช่นเดียวกัน” 

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า การสำรวจการไหลออกของเงินทุนจีนในช่วงแรกค่อนข้างยากลำบาก ทว่า “สัญญาณจำนวนหนึ่ง” บ่งชี้ว่ามีความต้องการใหม่ในการดึงเงินทุนออกจากจีน ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังคงเปราะบาง กฎหมายภาษีที่เป็นประเด็น หรือการวิจารณ์เรื่องการสะสมความมั่งคั่งของรัฐบาลจีน เป็นต้น

ลาน เชน (Lan Chen) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของจาลิน เรียลตี้ (Jalin Realty) ซึ่งทำธุรกิจในจีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ กล่าวว่า จากแบบสอบถามนักลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคเอเชียพบว่า ดีมานด์ในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการจากนักลงทุนจีน

“นักลงทุนที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่ในตอนนี้ล้วนต้องการลงทุนในต่างประเทศทั้งสิ้น แม้ตอนนี้จะยังเห็นไม่ชัดเจนมากนัก ทว่าเรามั่นใจว่ามีดีมานด์ดังกล่าวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักเรียนต่างชาติที่กำลังกลับเข้ามาเรียนในออสเตรเลีย” 

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่า หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ทั้งชาวจีนชนชั้นกลางและผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงต่างมองว่าลู่ทางในการโยกย้ายเงินและสินทรัพย์จำนวนหนึ่งไปต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุน รวมทั้งย้ายสินทรัพย์บางส่วนให้ไกลจากเงื้อมมือของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม สัญญาณในปัจจุบันชี้ว่าเงินทุนจากชาวจีนไหลออกไปตลาดต่างประเทศน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2559 ที่เงินทุนไหลออกมหาศาลจนรัฐบาลจีนประกาศมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินตราที่เข้มงวดมากขึ้น

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่า ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปต่างประเทศของรัฐบาลจีนสามารถยับยั้งการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากได้ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินตราจนส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการไหลออกของเงินทุนครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งตัวชี้วัดว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในจีนและสร้างความกังวลต่อสกุลเงินหยวนด้วย

การโยกย้ายของเงินตรา

นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์แหล่งข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์กล่าวว่า แม้ข้อมูลความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียจะไม่ได้แบ่งแยกโดยเชื้อชาติ แต่ยืนยันว่าความสนใจเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาช่วยผลักดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียมีเสถียรภาพมากขึ้น

ในขณะที่ตอนนี้สิงคโปร์ก็มีเม็ดเงินและการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศ (Families and Money Flowing In) เช่นเดียวกัน 

โดยโจอี้ หวัง (Joey Wang) ผู้นำนวยการของซีเอส คอร์ป (CS Corp) สํานักบัญชีที่ให้คําแนะนําด้านการย้ายถิ่นในนครรัฐ (The City-state) กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา บริษัทฯ มีลูกค้าชาวจีนเกือบ 300 ราย

“โควิด-19 และการปิดเมืองของจีนทำให้ประชาชนมีเวลาในการไตร่ตรองเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขามากขึ้น”

ทั้งนี้ อัตราการเข้าซื้อบ้านในสิงคโปร์ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวจีนลดลงเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2566 หลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีก่อนหน้า ในขณะที่ชาวจีนจำนวนหนึ่งแสดงความสนใจส่งลูกหลานเข้าเรียนในเดอะสิงคโปร์ อเมริกัน สคูล (The Singapore American School) ในเมืองวูดแลนด์ (Woodlands) เพิ่มมากขึ้น

ส่วนรัฐบาลแคนาดาสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งแคนาดาเป็นหนึ่งประเทศที่นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในจีนให้ความสนใจอย่างมาก

ด้านนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยให้ข้อมูลว่า ชาวจีนเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงเดือนก.พ. เงินฝากในสกุลเงินต่างประเทศในธนาคารพาณิชย์ของจีนลดลง 16.2% แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการไหลออกของเงินทุนของประเทศจีนไปต่างประเทศหรือไม่

นักวิเคราะห์จากธนาคารนาติซิสของฝรั่งเศส (Natixis) แหล่งข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุผ่านข้อความว่า การวัดการไหลออกของเงินทุนแบบปลอม (Disguised Capital Flight) คือการดูการไหลออกของเงินทุนสุทธิ (Net Capital Outflows) อย่างต่อเนื่องผ่านการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ เจนนี ยัน (Jenny Yan) ผู้จัดการฝ่ายการตลาดจากบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์ข้ามแดน ในเมืองเสิ่นเจิ้น  กล่าวว่า ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และหนึ่งสิ่งที่พวกเขาสนใจคือตลาดอสังหาริมทรัพย์

“ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยหรือในมาเลเซียค่อนข้างถูก และยังถูกกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เทียร์ 3 ในจีนด้วยซ้ำ โดยราคาบ้านหรูในประเทศไทยและมาเลเซียอยู่ที่ 3 แสนดอลลาร์เท่านั้น (ประมาณ 9.9 ล้านบาท) และหากซื้อแค่อะพาร์ตเมนต์ราคาก็จะอยู่เพียง 25% ของราคาบ้านหรูเท่านั้น