‘สตาร์ตอัป’ ปีนี้ท้าทาย ‘วีซี’ชะลอลงทุน เข้มคัดเลือกบริษัท
“ จิตตะ” ชี้ความท้าทายสตาร์ตอัปปีนี้ เหตุเทรนด์เม็ดเงินลงทุน“กองทุนวีซี”ทั่วโลกชะลอลงทุนต่อเนื่อง จากปี 65 ลดลง 35% เหลือ 4.45 แสนล้านดอลลาร์ “กรุงศรีฟินโนเวต” เตรียมตั้งกองทุนใหม่พันล้านในช่วงครึ่งปีหลัง “บลจ.ไทยพาณิชย์” เชื่อระยะยาวน่าสนใจลงทุน
บริษัทสตาร์ตอัปในปีนี้ ยังเผชิญกับความท้าทาย จากเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย เงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง กดดันธนาคารกลางของประเทศต่างๆยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ Venture Capital (VC) เข้มงวดในการลงทุนมากขึ้น ทำให้การระดมทุนของสตาร์ตอัปทั่วโลกยากลำบากมากขึ้น
นางสาวพรทิพย์ กองชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเติบโต (CGO) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท จิตตะ ดอทคอม จำกัด และบลจ.จิตตะ เวลธ์ เปิดเผยว่า จาก Crunchbase Report ระบุ VC ตัดสินใจชะลอการลงทุนในสตาร์ตอัปทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัดช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน และเงินเฟ้อเร่งตัว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงราคาหุ้นเทคโนโลยีอยู่ในช่วงขาลง บริษัทเทคโนโลยีทยอยปลดพนักงาน ราคาคริปโทเคอร์เรนซีร่วงแรง และการคาดการณ์ว่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาพที่เห็น คือ สตาร์ตอัปหลายๆ รายต้องดิ้นรน เพื่อให้เติบโตและอยู่รอดได้
ทั้งนี้การระดมทุนของสตาร์ตอัปทั่วโลกเป็นขาลงตั้งแต่ปี 2565 และยังส่งผลกระทบมายังปี2566 โดย Crunchbase Report ระบุว่าเม็ดเงินระดมทุนทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ 445,000 ล้านดอลลาร์ ลดลง 35% จาก 681,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 แต่ยังสูงกว่าปี 2563 ที่มี 342,000 ล้านดอลลาร์
“แนวโน้มดังกล่าวทำให้เรามองว่าปีนี้เป็นปีที่ไม่ง่ายของธุรกิจสตาร์ตอัป ไม่ว่าจะอยู่ในสเตจไหน กองทุน VC ทั่วโลก ส่วนใหญ่ ปรับนโยบายการลงทุนเข้มงวดขึ้น เลือกสตาร์ตอัปที่มีเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และมีแนวโน้มที่สามารถทำกำไรในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจจะถึงเวลา setback หรือ reset ของสตาร์ตอัป หันมาโฟกัสการอยู่รอดของธุรกิจมากขึ้น ”
นางสาวพรทิพย์ กล่าวว่า ในปีนี้กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัปที่สามารถต้านทานต่อวัฎจักรเศรษฐกิจ ทั้งขาขึ้น ขาลง และมีโอกาสเติบโตได้ ยังได้รับความสนในจากVCทั่วโลก และกลุ่มผู้ร่วมลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะสตาร์ตอัปกลุ่มธุรกิจ HealthTech FoodTech และ FinTech
ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องการชีวิตประจำวันและปัจจัยที่ 4 ของมนุษย์ คนยังต้องกินต้องใช้ เช่น บริการปรึกษาแพทย์ Telemedicine มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามา โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งรอ OPD ที่โรงพยาบาล เบิกกันกลุ่มและประกันสังคมได้ อย่าง FinTech ซึ่งแทบจะฝังอยู่ในพฤติกรรมของคนไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใช้ จ่าย โอน หรือลงทุน
อย่างไรก็ตาม มองว่า ความท้าทายของสตาร์ตอัปรายใหม่ๆ กลุ่มนี้ที่ยังได้รับความสนใจจาก VC คือ การมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่ดีมากกว่า และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ามากๆ เน้นการสร้างคุณค่าที่แปลกใหม่และตรงใจผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วยุคนี้
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดของสตาร์ตอัปหลักๆ มี 4 เรื่อง คือ 1.มีโซลูชั่นที่แก้ปัญหาได้ชัดเจน ตรงความต้องการของผู้ใช้ 2. มีผู้ร่วมอุดมการณ์ ทั้งผู้ก่อตั้ง ทีมงาน ที่มี Passion และมีเป้าหมายร่วมกัน 3. มีโมเดลธุรกิจที่ดี เห็นการเติบโต มีศักยภาพการแข่งขันที่มากกว่าคู่แข่งในตลาด และ 4. มีเงินทุนที่จะขับเคลื่อนธุรกิจได้ยาวๆ ได้ว่าจะมาจาก VC หรือ Angel Investor
" สตาร์ตอัปส่วนใหญ่จะตกม้าตายที่ 2 ข้อสุดท้าย ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กัน หากมีโมเดลธุรกิจที่ดี แต่เติบโตไปไม่ได้ เม็ดเงินลงทุนก็หยุดชะงัก ในขณะเดียวกันหากไม่มีเงินเข้ามาอัดฉีด เพราะสภาพคล่องตึงตัว กระทบต่อสตาร์ตอัปจะระดมทุนได้ยาก ธุรกิจก็อาจกระทบหยุดเติบโตได้”
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลทุน (Corporate Venture Capital: CVC) ภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าแผนเปิดตัวและเสนอขายกองทุนสตาร์ตอัปใหม่อีก 1 กองทุน มูลค่ากองทุนราว 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัปไทยกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้น (Seed stage) อยู่ระหว่างการสร้างการเติบโต (ก่อนซีรีส์ A) คาดว่าน่าจะเริ่มได้ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งสภาพปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการลงทุนน่าจะเบาบางลงและมีความชัดเจนในหลายๆ มีทิศทางดีขึ้น ทำให้เป็นโอกาสระดมทุนในสตาร์ตอัปอีกครั้ง
"สาเหตุที่สนใจตั้งกองทุนสตาร์ทอัพใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทต้องการสนับสนุนสตาร์ตอัปของไทยซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ให้สามารถสร้างการเติบโต”
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายละเอียด ประสานงานหน่วยงานต่างๆ และการจัดตั้งกองทุน กลุ่มเป้าหมายนักลงทุนที่จะเสนอขายกองทุน คือนักลงทุนทั่วไป ประเภท High Net Worth ผ่านการเสนอขายของ บลจ.กรุงศรี ด้านผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในระดับซีรีส์ A ทั่วไป เพราะมีความเสี่ยงมากกว่า
"ที่ผ่านมากลุ่มสตาร์ตอัปที่สามารถเข้ามาสู่ซีรีส์ B ซีรีส์ A เริ่มมีจำนวนน้อยลง อาจเป็นเพราะภาวะการลงทุนไม่เอื้ออำนวย VCต้องพิจารณาการเข้าลงทุนรอบคอบมากขึ้น หันมาเน้นสตาร์ตอัปที่มีแผนงานสร้างกำไรชัดเจน รวมถึงต้องหันมาพิจารณาลงทุนระดับที่ต่ำกว่าซีรีส์ B มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนแต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น”
ทางด้าน กองทุนฟินโนเวนเจอร์ ฟันด์ I (Finnoventure Private Equity Trust I) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัปครั้งแรกของไทยที่จัดตั้งเมื่อปลายปี 2564 นั้น ปัจจุบัน ได้รับเงินระดมทุนมาแล้ว 2,620 ล้านบาท ผลตอบแทนกองทุนนี้ ณ สิ้นปี 2565 ยังเติบโตถึง 6%
นางสาวนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ Hamilton Lane ในช่วงระหว่างปี 2522-2563 พบว่า การลงทุนใน VC มีส่วนต่างของผลตอบแทนประมาณ12-13% โดยเฉลี่ยต่อปีเมื่อเทียบกับ MSCI World นับว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่สูงจากการเข้าลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป
โดยแนวโน้มผลตอบเเทนของกองทุนที่มีการลงทุนในสตาร์ตอัปในระยะสั้น อาจจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากผลกระทบจากของนโยบายการเงินตึงตัวของเฟด รวมถึงราคาที่อยู่ในระดับสูง(High Valuation) คาดว่าจะมีผลต่อการระดมทุน (Fund raising)ที่อาจชะลอตัวลงในกลุ่มสตาร์ตอัปและ VC เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและมีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนอื่นๆ
อย่างไรก็ดีการลงทุนในสตาร์ตอัปในระยะยาวยังมีน่าสนใจอยู่มาก เนื่องจาก บริษัทสตาร์ตอัปยังเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กที่รอวันเติบโต มีผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมาก็มักจะตอบโจทย์ และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้ โดยมีธีมการลงทุนที่ค่อนข้างน่าสนใจ อาทิ AI, Healthcare, Energy transitionและFintechเป็นต้น