‘เยลเลน’ มองสวน ศก.สหรัฐยังแกร่ง ย้ำจ้างงานดี-บริโภคเด่น-เงินเฟ้อลด
“เจเน็ต เยลเลน” ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐเพอร์ฟอร์มได้ดีเป็นพิเศษ เหตุภาคการจ้างและภาคการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในขาลง พร้อมปัดตกโอกาสเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้นักวิเคราะห์จำนวนมากจะประเมินว่ามีโอกาสภาวะดังกล่าวเกิดก็ตาม
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (12 เม.ย. 2566) ว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ มองผ่านความปั่นป่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นมากกว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และไม่เชื่อว่าความวุ่นวายในภาคธนาคารมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาพาณิชย์
“ตอนนี้เรายังไม่เจอหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่าอัตราการปล่อยสินเชื่อหดตัว แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ก็ตาม” เยลเลนกล่าวเมื่อวันอังคารระหว่างการแถลงข่าวในวอชิงตัน พร้อมเสริมว่า “เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจสหรัฐเพอร์ฟอร์มได้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการจ้างงานที่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ลดลง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแรง ดังนั้นเราจึงไม่ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) แม้ว่าจะมีความเสี่ยงก็ตาม”
ทั้งนี้ มุมมองของเยลเลนเกี่ยวกับสินเชื่อของสหรัฐมีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. การปล่อยสินเชื่อในสหรัฐ “หดตัว” มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความปั่นป่วนจากการล่มสลายของธนาคารในสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นดังกล่าวของเธอขัดแย้งกับแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงปี 2566 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งปรับลดประมาณการการเติบโตทั่วโลกลงเหลือ 2.8% ในปีนี้และ 3% ในปี 2567
โดยรายงานดังกล่าวอ้างถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเนื่องจาก “ความเค้น” ของภาคการเงิน ซึ่งได้รับแรงกดดันมหาศาลจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ด้านบรูโน เลอ แมร์ (Bruno Le Maire) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวท้องถิ่นในปารีสก่อนออกเดินทางไปสหรัฐว่า “เราเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งในหลายประเทศอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะอยู่ต่ำกว่า 3% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติการเงินในปี 2551” เลอ แมร์ กล่าว
ทั้งนี้ เยลเลน ในฐานะอดีตประธานเฟด ระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงจนเกินไป ทว่าก็ยังมีสัญญาณ “ที่น่ายินดี” ซึ่งบ่งชี้ว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้ออยู่ในแนวโน้มขาลง
ส่วนบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า เยลเลนอ้างอิงถึงความสั่นคลอนของภาคธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรปเพียงเล็กน้อยก่อนที่จะแสดงความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของสหรัฐอย่างจริงจัง
“ระบบธนาคารของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งด้วยสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแรง นอกจากนี้ระบบการเงินโลกยังคงมีความยืดหยุ่นเนื่องจากหลังจากวิกฤติการเงินในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศได้ปฏิรูประบบทางการเงินครั้งใหญ่ไปแล้ว”
โดยเยลเลนเพิ่มเติมอีกว่า เธอมีภารกิจจำนวนมากในสัปดาห์นี้ หนึ่งในนั้นคือทำให้จีนเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับประเทศแซมเบียและประเทศยากจนอื่นๆ รวมทั้งผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ธนาคารโลก (World Bank) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนยูเครนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นดังกล่าวของเยลเลนขัดแย้งกับการประเมินของไอเอ็มเอฟและนักวิเคราะห์จำนวนมากที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงมากที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่ค่อยๆ เสื่อมมูลค่าลงเรื่อยๆ