ปรับปรุง ‘กฎหมายวินัยการคลัง’ ใช้งบก่อนเลือกตั้งรัดกุม | เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
ในช่วงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคการเมืองทยอยนำเสนอนโยบายให้กับประชาชน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะเป็น ประชานิยม ที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองชั่วคราว และกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องการใช้งบประมาณหลังจากได้เป็นรัฐบาลแล้ว
นอกเหนือจากการใช้งบหลังจากการเป็นรัฐบาลแล้ว ประเด็นความใส่ใจต่อวินัยทางการคลังในช่วงการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งไม่ควรจะละเลยอย่างยิ่ง
แม้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จะกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด และไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ครอบคลุมเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐในเรื่องการเก็บ การใช้จ่าย การก่อหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ยังมีช่องโหว่ในการใช้งบประมาณที่ยังไม่รัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเลือกตั้ง รัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ อาจจะมีการตัดสินใจใช้จ่ายเงินเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่ได้พิจารณาถึงความโปร่งใส ความรอบคอบ และผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง
การตัดสินใจใช้จ่ายเงินเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น อาจปรากฏในลักษณะของการเพิ่มงบประมาณด้านบุคคลก่อนการพ้นวาระการดำรงตำแหน่งของ ครม. หรือวาระของสภา เช่น เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาก่อนการยุบสภา ครม. เห็นชอบขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. จำนวน 5,300 แห่ง
โดยประมาณการค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนประมาณ 13,774.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนปัจจุบัน 4,252 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.66
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ครม. ยังได้มติให้ปรับอัตราเงินตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และตำแหน่งอื่นๆ โดยกำนันปรับเพิ่มจาก 10,000 บาทเป็น 12,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านจาก 8,000 บาท เป็น 10,000 บาท แพทย์ประจำตำบลปรับเพิ่มจาก 6,000 บาท เป็น 7,000 บาท ต่อเดือน เป็นต้น
นอกเหนือจากการเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้บริหารและสมาชิก อบต. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และตำแหน่งอื่นๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 มีนาคม ครม. ได้ปรับเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็น 2,000 บาท
เป็นข้อสังเกตว่า การเพิ่มค่าป่วยการ อสม. นี้ ครม. ของรัฐบาลในสมัยที่แล้วก็มีการตัดสินใจเพิ่มค่าป่วยการให้ อสม. จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท ก่อนจะมีการเลือกตั้งเช่นกัน
นอกจากการเพิ่มผลประโยชน์ในด้านบุคคลก่อนการพ้นวาระการดำรงตำแหน่งของ ครม. หรือวาระของสภาแล้ว ตัวอย่างอีกลักษณะหนึ่งคือ การอนุมัติโครงการโดยใช้มาตรการกึ่งการคลังอนุมัติงบประมาณให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือธนาคารออมสิน เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินดำเนินโครงการให้รัฐบาลไปก่อนแล้วจึงจ่ายเงินคืนให้กับสถาบันการเงินผ่านงบประมาณแผ่นดิน
ซึ่งที่ผ่านมาไม่นาน ครม. พึ่งได้อนุมัติโครงการโคล้านครอบครัวที่ให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการสามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโคครอบครัวละ 2 ตัว โดยรัฐบาลจะจ่ายงบประมาณคืนกลับมาให้ ธกส.
แม้ทั้งหมดนี้รัฐบาลที่กำลังจะพ้นวาระอาจจะมีเจตนาที่ดี แต่ทั้งหมดก็เป็นการดำเนินนโยบายที่ผูกพันกับการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ที่ควรจะต้องมีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่าย หรืออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว
ในบริบทของประเทศไทย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในช่วงการเลือกตั้งที่ควรจะมีกระบวนการเฉพาะในการหยิบยกประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวมาตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยให้การแข่งขันในเวทีการหาเสียงมีความเป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบระหว่างพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองขนาดเล็ก
เมื่อเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศจะพบว่า ในต่างประเทศนั้นมีการให้ความสำคัญกับการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพื่อเป้าหมายในการรักษาวินัยทางการคลัง และสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคในการเลือกตั้ง
ตัวอย่างเช่นในกฎหมายวินัยทางการคลังของประเทศออสเตรเลียกำหนดให้เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะต้องมีการจัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจและการคลังเพื่อเผยแพร่ภายใน 10 วัน เพื่อให้ข้อมูลรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจและการคลังก่อนเลือกตั้ง
โดยข้อมูลครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ สมมติฐานต่างๆ ที่ใช้ รายละเอียดของภาระผูกพันทางการคลัง และยอดหนี้สาธารณะ โดยมาตราการเหล่านี้เน้นการให้ความสำคัญกับการทำให้สังคมตระหนักและมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
หรือในประเทศบราซิลมีการกำหนดความผิดอาชญากรรมทางการคลังต่อการดำเนินงานเพิ่มค่าใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรในปีสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งหรืออายุสภา
ในบริบทของประเทศไทยตัวอย่างของประเทศออสเตรเลียอาจมีความน่าสนใจมากกว่าตัวอย่างของประเทศบราซิล เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในช่วงการเลือกตั้ง และช่วยส่งเสริมกระบวนการทางประชาธิปไตยจากการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการลงโทษทางอาญาที่มีกระบวนการพิจารณาที่ซับซ้อนและอาจจะมีประเด็นในเรื่องการแสวงหาพยานหลักฐาน
อย่างไรก็ดี ความน่ากังวลของประเทศไทยคือ การไม่มีสถาบันของภาครัฐที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังที่เข้มแข็งแบบสำนักงบประมาณของรัฐสภาแบบสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความโปร่งใสจากสังคม การจะกำหนดหน้าที่ให้กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก็อาจจะไม่เหมาะสมในเวลานี้
ในเวลานี้ทางออกของสังคมจึงต้องพึ่งกำลังของ ภาคประชาสังคมและเครือข่ายทางวิชาการช่วยกันทำหน้าที่ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการใช้งบประมาณ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ควรพัฒนาสำนักงบประมาณของรัฐสภาให้เข้มแข็ง เพื่อปิดช่องโหว่ในการใช้งบประมาณที่ยังไม่รัดกุมพอ ลดผลกระทบต่อวินัยทางการคลังประเทศ.