ถอดรหัสเฟด วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นจบหรือยัง | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่คราวนี้ไม่ได้ใส่ประโยคสำคัญในเอกสารแถลงข่าวว่าพร้อมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อถ้าสถานการณ์เหมาะสม
ทําให้ตลาดการเงินคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะจบหรือไม่มีต่ออีก ซึ่งผมคิดว่าเร็วเกินไปที่จะสรุป เพราะเงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจสหรัฐยังมีมาก
ในความเห็นผม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงมีต่อตามสถานการณ์ แต่อาจทอดเวลาและระมัดระวังมากขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาทิตย์ที่แล้วเป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาด และการปรับขึ้นร้อยละ 0.25 ให้ความรู้สึกของการทํานโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป พิจารณาจากแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐที่กําลังลดลงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในสหรัฐที่มีอยู่มาก
ในการแถลงข่าวประธานเฟดให้ความมั่นใจเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐ ยํ้าถึงความสําคัญของอัตราเงินเฟ้อตํ่าที่จะมีต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ มองอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ร้อยละ 5.2 สูงกว่าเป้าที่ร้อยละ 2 มากและควรลงต่อ
แต่การปรับลงจะใช้เวลา และประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐโดยเฉพาะตลาดแรงงาน เข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นรวมแล้วกว่าร้อยละ 5 คงมีผลต่อเศรษฐกิจและจะสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น เป็นเรื่องที่เฟดต้องติดตาม
ทำให้การตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไป จะขึ้นอยู่กับข้อมูลและประมาณการเศรษฐกิจที่จะออกมา โดยเฟดจะพิจารณาว่าอะไรเหมาะสมในการประชุมแต่ละครั้ง และยืนยันว่าพร้อมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถ้าจําเป็น
ถอดรหัสความเห็นของประธานเฟดข้างต้นชัดเจนว่า เฟดต้องการลดอัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจสหรัฐให้กลับสู่เป้าหมายร้อยละ 2 แม้จะใช้เวลาเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทําตามหน้าที่
แต่จากความไม่แน่นอนที่มีมากและความห่วงใยของนักลงทุนและตลาดการเงิน ที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ ทําให้เฟดต้องทําเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาความมั่นใจของตลาดการเงินต่อการทํานโยบายของเฟด
เท่าที่วิเคราะห์ มีความไม่แน่นอนใหญ่อยู่สองเรื่องขณะนี้เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ นอกเหนือจากปัญหาหนี้สาธารณะ ที่ทําให้เฟดต้องระมัดระวังในการตัดสินใจ
หนึ่ง คือ ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
ต้องยอมรับว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ประเมินยาก เพราะหลายอย่างเปลี่ยนเร็วทําให้ภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนเร็ว
เห็นได้จากความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐที่ต่างกันมาก มีตั้งแต่ไม่เกิดภาวะถดถอย ไปถึงเกิดแต่เบา ไปถึงภาวะถดถอยรุนแรง
เรื่องนี้แม้ในธนาคารกลางสหรัฐ ประธานเฟดก็ยอมรับว่าความเห็นเขากับเจ้าหน้าที่เฟดในการมองความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐปีนี้ค่อนข้างต่างกัน คือประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ
ล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟดให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในเศรษฐกิจสหรัฐมีสูงในไตรมาสสี่ปีนี้ ขณะที่ประธานเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในปีนี้ได้
เพราะความเข้มแข็งของตลาดแรงงานที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่กระทบอัตราการว่างงานในสหรัฐ อัตราการว่างงานสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ตํ่า ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นถ้าเศรษฐกิจสหรัฐกําลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท
ความไม่แน่นอนที่มีในเศรษฐกิจสหรัฐ สะท้อนความไม่แน่นอนที่มีมากในเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจโลกขณะนี้ผันผวนมากกว่าที่เคยเป็น เป็นผลจากสามปัจจัย
คือ สงครามในยุโรป วิกฤติพลังงานที่กระทบการผลิต และความตื่นตระหนกของนักลงทุนเกี่ยวกับความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์
สิ่งเหล่านี้ทําให้ความเชื่อมั่นในภาพเศรษฐกิจโลกเมื่อมองไปข้างหน้ายังไม่นิ่ง มีความเห็นหลากหลายและแตกต่าง ทําให้การทำนโยบายต้องระมัดระวัง
สอง ความมั่นใจเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ปิดสามธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กถึงกลางในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม รวมถึงล่าสุดที่ธนาคาร First Republic ถูกขายให้กับธนาคารเจพีมอร์แกน
ทําให้ความห่วงใยของประชาชนเกี่ยวกับการฝากเงินกับธนาคารขนาดกลางและเล็กยังเป็นประเด็น ซึ่งเรื่องนี้เฟดตระหนักดีและได้ย้ำความมั่นคงของระบบธนาคารสหรัฐเป็นประโยคแรกในการแถลงข่าว
ประธานเฟดชี้แจงว่า แรงกดดันต่อฐานะการเงินของธนาคารขนาดเล็กจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม
ขณะนี้ปัญหาทั้งหมดถือว่าจบแล้ว หลังล่าสุดธนาคารเจพีมอร์แกนเข้าซื้อกิจการธนาคาร First Republic และชี้ว่าการไหลของเงินฝากของประชาชนและนักลงทุนสถาบันออกจากธนาคารขนาดเล็กไปสู่ธนาคารขนาดใหญ่และกองทุนในตลาดเงิน
เป็นเรื่องปรกติในภาวะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นและผู้ฝากเงินต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการฝากเงิน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารขนาดเล็กและกลางขณะนี้เกือบครึ่งเริ่มห่วงเรื่องสภาพคล่องจึงระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยกู้ทําให้ภาวะสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะไม่คล่องตัวเหมือนก่อน
นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้มาตรฐานกำกับดูแลแบงค์ขนาดเล็กอาจถูกปรับให้เข้มงวดมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต
เท่าที่ฟังชัดเจนว่า ทางการสหรัฐติดตามความเสี่ยงที่จะมีต่อการทำธุรกิจของสถาบันการเงินสหรัฐค่อนข้างใกล้ชิดและคงไม่ยอมให้มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะจะกระทบความเชื่อมั่นในระบบการเงินสหรัฐโดยรวม
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการกำกับดูแลธนาคารขนาดเล็กที่จะเข้มงวดขึ้น เช่น เรื่องสภาพคล่อง จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมีตันทุนสูงขึ้นในการทำธุรกิจและจะอยู่ยากขึ้น
ดังนั้น อาจจำเป็นที่ธนาคารขนาดเล็กในอนาคตต้องควบรวมกับธนาคารอื่น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อเป็นทางออก ทําให้เราอาจเห็นการควบรวมแบงค์ในสหรัฐมีมากขึ้นจากนี้ไป
นี่คือประเด็นที่เก็บตกจากการประชุมเฟดล่าสุด.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล