เมื่อสังคมร่วมใจถวายงานวัดเรื่องธรรมาภิบาล | บัณฑิต นิจถาวร
ต้นเดือนนี้ มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) เปิดตัวโครงการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล โดยมี กองทุนธรรมาภิบาลไทย หรือ Thai CG Fund เป็นผู้สนับสนุน
เป้าหมายของโครงการคือ วางระบบการบริหารวัดภายใต้แนวปฏิบัติเก้าข้อที่มูลนิธิได้จัดทําขึ้นเพื่อให้วัดมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
โดยมี 16 วัดทั่วประเทศสมัครใจเข้าร่วมโครงการเป็นวัดนำร่อง มีอาสาสมัครจากภาคธุรกิจ ประชาสังคม และภาควิชาการกว่า 50 คนร่วมเป็นทีมช่วยเหลือวัดทั้ง 16 แห่งในการวางระบบ
ถือเป็นความร่วมมืออย่างสําคัญของทุกภาคส่วนในสังคมที่พร้อมใจถวายงานวัดเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายสาธารณะและในการบริหารจัดการองค์กรไม่แสวงกำไร เช่น สมาคม สหกรณ์ วัด มหาวิทยาลัย และองค์กรสาธารณะ
มูลนิธิฯ จัดทําแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการและผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อเป็นแนวทางในการกํากับดูแลและบริหารองค์กรไม่แสวงหากำไรตามหลักธรรมาภิบาล
พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้แนวทางดังกล่าวกับคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากําไร ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มูลนิธิได้ทําร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์
ในกรณีวัด มูลนิธิฯ มีความเห็นว่าการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะวัดเป็นองค์กรที่ต้องบริหาร
ระบบการบริหารที่ดีจะช่วยปลอดภาระพระสงฆ์จากการบริหารให้สามารถทําหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เต็มที่
โดยแนวปฏิบัติจะต้องให้ความสำคัญกับสามเรื่องที่เป็นลักษณะพิเศษของวัด ได้แก่ พ.ร.บ สงฆ์ ที่กำกับดูแลวัด พระธรรมวินัยและหลักธรรมาภิบาล เช่น ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวัง
สะท้อนแนวคิดดังกล่าว มูลนิธิฯ ได้พัฒนาแนวปฏิบัติเก้าข้อในการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาล โดยเน้นในสามเรื่องที่เป็นหลักสําคัญของการบริหารตามแนวพระพุทธศาสนาและธรรมาภิบาล
ได้แก่ การตัดสินใจเป็นหมู่คณะซึ่งเป็นหลักดั้งเดิมของการบริหารสังฆะ ระบบงานที่โปร่งใสเป็นมาตรฐาน และการตรวจสอบจากภายนอก
แนวปฏิบัติเก้าข้อสรุปโดยย่อได้ดังนี้
1. วัดบริหารโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด และฆราวาสที่ได้รับการคัดเลือก มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน ในกรณีวัดขนาดใหญ่ วัดบริหารโดยคณะกรรมการสองชุดคือคณะกรรมการกำกับดูแลที่มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารที่เจ้าอาวาสแต่งตั้ง
2. กําหนดคุณสมบัติและวาระดำรงตำแหน่งของฆราวาส ที่เข้ามาทําหน้าที่กรรมการและไวยาวัจกร กรรมการและไวยาวัจกรเสนอชื่อได้โดยชุมชน
3. เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด และฆราวาสที่ทําหน้าที่กรรมการควรเพิ่มพูนความรู้เรื่องการบริหาร กฎหมาย และธรรมาภิบาล
4. วัดควรกําหนดนโยบายและระเบียบที่สําคัญเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นที่ทราบทั่วกัน
5. วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติ ที่เป็นมาตรฐาน มีบุคคลากรที่มีความรู้จัดทํารายงานทางการเงินและดูแลการบัญชีของวัด
6. วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในเพื่อดูแลการปฏิบัติงานของวัดตามระเบียบควบคุมภายใน แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีจากภายนอกเพื่อสอบทานและยืนยันความถูกต้องทางบัญชี
7. วัดจัดทํารายงานทางการเงินและรายงานต่างๆ ตามระเบียบที่สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด
8. วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจลักษณะทั้งข้อมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน
9. คณะกรรมการที่กำกับดูแลและทําหน้าที่บริหารวัดปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล เช่น มีการประชุม มีวาระการประชุม มีการจดบันทึกและจัดทํารายงานการประชุมเป็นต้น
แนวปฏิบัติทั้งเก้าข้อสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวัดทุกขนาดทุกประเภท ซึ่งรายละเอียดจะแตกต่างกันตามขนาด ความซับซ้อน และบุคคลากรที่วัดมี
ความท้าทายจึงอยู่ที่การนําแนวปฏิบัติดังกล่าวไปปฏิบัติใช้จริงเพื่อให้เกิดผล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่สามารถทําได้
จึงเป็นที่มาของวัดนำร่อง 16 วัดทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งวัดขนาดใหญ่ วัดขนาดเล็ก วัดราษฏร์ วัดหลวง วัดป่า วัดในเมือง วัดในชนบท ที่สมัครใจนําแนวปฏิบัติทั้งเก้าข้อไปปฏิบัติ
สำหรับแต่ละวัด การวางระบบบริหารวัดตามแนวปฏิบัติจะมีทีมอาสาสมัครในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ ทีมอาสาสมัครมาจากประชาชนในพื้นที่ที่สมัครใจใช้ความรู้ที่มีถวายงานวัดเพื่อให้วัดเป็นตัวอย่างของการนําการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลไปปฏิบัติใช้
ทีมอาสาสมัครมาจากทั้งภาคธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ เช่น กทม. เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภาคมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมแล้วกว่า 50 ชีวิตที่มาร่วมกันทํางานด้วยใจเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา
คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการหอจดหมายเหตุ ชมเชยอาสาสมัครกลุ่มนี้ว่าเป็นมฆมานพ คือจิตอาสาที่ทําความดีด้วยหัวใจ
โครงการมีระยะเวลา 18 เดือนที่จะช่วยวัดทั้ง16 แห่งวางระบบการบริหาร ติดตามและช่วยเหลือจนวัดสามารถบริหารงานตามระบบงานใหม่ได้ด้วยตัวเอง
หลังจบโครงการ มูลนิธิจะประเมินผลที่เกิดขึ้น ปัญหา การเปลี่ยนแปลงและความสําเร็จ เป็นรายงานเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรพระพุทธศาสนาต่อไป
ผู้ที่สนใจและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ ติดต่อมูลนิธิฯ ได้ที่ Email: [email protected] หวังว่าจะได้ทำงานร่วมกัน
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล