บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญไปร่วมให้ความคิดเห็นในงานสัมมนาสันนิบาตเทศบาลครั้งที่ 1 เรื่องการกระจายอำนาจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จัดโดย เนชั่นทีวีร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

โดยให้ความเห็นเรื่อง การจัดการอำนาจเพื่อความยั่งยืน วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

เศรษฐกิจท้องถิ่นคือพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเศรษฐกิจระดับจุลภาคที่สะท้อนการทํามาหากินและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง ในประเทศเราเศรษฐกิจท้องถิ่นถูกจัดแบ่งตามพื้นที่ในรูปองค์กรปกครองท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศคือ

องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบลรวมถึง กรุงเทพมหานครและพัทยา ถ้าการบริหารจัดการทําให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเหล่านี้เติบโตเข้มแข็ง มีพลังทางเศรษฐกิจของตนเอง เศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโตและเข้มแข็งเช่นกัน

เพราะเศรษฐกิจประเทศก็คือภาพรวมของเศรษฐกิจท้องถิ่น ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศในระดับฐานราก เป็นการพัฒนาจากล่างสู่บน

ในทางเศรษฐศาสตร์ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคือการกระจายอํานาจการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งในแง่การเติบโต

การลดความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า ผ่านการขับเคลื่อนของกลไกสามตัวคือ

หนึ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในเรื่องนโยบายจะทําให้การใช้ทรัพยากรและการแก้ไขปัญหาสามารถตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างตรงจุดเพราะคนท้องถิ่นย่อมรู้เรื่องในพื้นที่ได้ดีกว่าคนจากส่วนกลาง

บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

สอง การกระจายอํานาจทางการคลังทั้งรายรับและรายจ่าย ทําให้การใช้เงินหรือทรัพยากรการคลังสามารถทําได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นได้ใกล้ชิดกว่างบประมาณส่วนกลาง

สาม การแข่งขันระหว่างท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นและการให้บริการประชาชน จะยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้สูงขึ้น

ทั้งหมดนํามาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ ซึ่งอย่างที่กล่าว ถ้าเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตและเข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศก็เติบโตและเข้มเเข็งเช่นกัน

เป็นที่น่ายินดีว่า ในบ้านเราการกระจายอำนาจได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องและทำได้ครบถ้วนในทั้งสามมิติของการกระจายอำนาจคือ การเลือกตั้งผู้นําท้องถิ่นที่จะเป็นศูนย์อํานาจในการตัดสินใจ การจัดตั้งหน่วยหรือองค์กรที่จะดูแลการบริหารจัดการในระดับท้องถิ่น

และการกระจายอํานาจทางการคลัง ซึ่งทํามาตั้งแต่ปี  2540 ทั้งรายรับและรายจ่ายที่จะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดสรรและใช้ทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ทั้งหมดทั้งสามมิติมีครบถ้วน

บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการจัดการอํานาจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผู้จัดขอให้ผมให้ความเห็น ความท้าทายคือทําอย่างไรให้การกระจายอํานาจที่มีนำไปสู่การดําเนินนโยบายเพื่อประโยชน์และความยั่งยืนของชุมชน เป็นโจทย์ของการได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีและการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล

ในเรื่องนี้ จากประสพการณ์ที่มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้ทํางานร่วมกับสำนักงาน ปปช. ในโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลภาครัฐในภูมิภาค จัดการอบรมด้านธรรมาภิบาลให้กับข้าราชการต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ผมมีความรู้สึกว่าข้าราชการในภูมิภาคส่วนใหญ่ทั้งที่มาจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีความตั้งใจและมีความพร้อมที่จะทําในสิ่งที่ถูกต้องและตระหนักดีถึงความสำคัญของนโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

แต่ที่ดูจะเป็นปัญหาในหลายพื้นที่คือ การบริหารจัดการที่ขาดธรรมาภิบาลที่นำไปสู่การใช้อํานาจและการทํานโยบายสาธารณะที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสาเหตุหลักก็ไม่ต่างกับปัญหาที่พบได้ในการทํางานของภาครัฐไทย คือ

หนึ่ง ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งในการทำหน้าที่ ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับผลประโยชน์ส่วนตน เมื่อแยกไม่ออกหรือไม่ต้องการแยกความผิดพลาดก็เกิดขึ้น นำไปสู่การตัดสินใจหรือนโยบายสาธารณะที่ไม่ดีที่ประชาชนหรือส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์ ทําให้ประเทศเสียโอกาส

บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

สอง ความรู้ความสามารถของผู้เข้ามาทําหน้าที่ คือผู้ที่ต้องตัดสินใจ เช่น ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งหรือเข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ขาดความรู้ในประเด็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือต้องตัดสินใจ ทําให้ผลการตัดสินใจที่ออกมาผิดพลาดหรือไม่ดีพอต่อประโยชน์ของส่วนรวม

สาม กระบวนการทํางานที่ขาดธรรมาภิบาล คือ ไม่เป็นระบบ ขาดเหตุผล ไม่โปร่งใส ไม่พร้อมให้ตรวจสอบ ไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และอาจขัดต่อระเบียบและกฎหมาย

ในงานสัมมนา ผมให้ความเห็นว่าสามเรื่องนี้คือสิ่งที่ต้องแก้เพื่อสนับสนุนและปลดปล่อยศักยภาพที่ท้องถิ่นมีให้นำไปสู่การเติบโตและความยั่งยืนของเศรษฐกิจท้องถิ่น

การแก้ไขต้องมุ่งไปที่ความเป็นอิสระในการตัดสินใจและความรู้ของผู้ที่ทําหน้าที่ การสร้างระบบคานอำนาจ (Check and Balance) ในการตัดสินใจ ระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานที่เข้มแข็ง และการมีแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

บริหารเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]