“เศรษฐกิจท้องถิ่น” ฟื้นประเทศ นักวิชาการหนุนรัฐกระจายอำนาจ
“ทีดีอาร์ไอ” หนุนกระจายอำนาจท้องถิ่น สร้างพื้นที่สาธารณะสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจ แนะไทยใช้บทบาทท้องถิ่นสร้างทักษะแรงงานเพื่ออนาคต “บัณฑิต” ชี้รัฐบาลกลางแก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว ต้องสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง หนุนเศรษฐกิจ “มนตรี” ระบุ ชุมชนเข้มแข็งแก้ปัญหากระจายรายได้
เนชั่นทีวี , กรุงเทพธุรกิจ และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” เพื่อนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจพลิกเศรษฐกิจไทย” ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของปากท้อง ปัญหาการว่างงาน และปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องของสงครามยูเครน-รัสเซีย แต่ปัญหาก็ส่งผลกระทบลงไปถึงท้องถิ่น ที่เศรษฐกิจซบเซามาก
ทั้งนี้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นนั้นในภาพรวม และภาพใหญ่เป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้แก้ไขในเรื่องนี้ แต่อีกมิติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ คือ ต้องใช้การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นเพื่อช่วยให้เกิดการแก้ปัญหา โดยมองว่ากลไกการแก้ปัญหาท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาได้ผลดีเนื่องจากการทำงานของท้องถิ่น มีความใกล้เคียงประชาชน มีกลไกความร่วมมือกับประชาสังคม และมีขั้นตอนการทำงานและแก้ปัญหาต่างๆรวมทั้งการมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น เรื่องของการแก้ปัญหาจราจร การแก้ไขขยะ และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
สำหรับเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากส่วนกลางอย่างเดียว โดยในพื้นที่เมืองจำเป็นที่ต้องสร้างพื้นที่สาธารณะ (Public Space)ที่เป็นพื้นที่ให้คนมาใช้ชีวิตนอกที่อยู่อาศัย มีกิจกรรมต่างๆในเมืองเพื่อให้คนค้าขายกันได้ เหมือนกับกิจกรรมหนังกลางแปลงของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมนี้เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่คนมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และให้คนที่ค้าขาย เป็นหาบเร่ แผงลอย มาค้าขาย
ทั้งนี้ได้ช่วยการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจด้วย เช่นเดียวกันกับโมเดลของหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นในเมืองโออิตะ สเปนที่เมืองบิลเบา และเกาหลีใต้ที่กรุงโซล ก็มีการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองเช่นกัน
นอกจากนี้ในบางโมเดลการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น ทำให้คนที่เป็นนายกเทศมนตรีนั้นพัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการสร้างอาชีพอย่างเช่น ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีการสร้างโปรแกรมฝึกอาชีพในเมืองในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต ได้แก่ สาขาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ
ส่วนในกรุงเทพฯหรือท้องถิ่นของไทยท้องถิ่นให้สร้างงานและสร้างอาชีพโดยพัฒนาทักษะ และควรมีการพัฒนาทักษะที่สร้างอาชีพใหม่ๆ เช่น เรื่องของการฝึกการเขียนโปรแกรมมิ่ง การซ่อมหรือควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) การซ่อมหรือประกอบโซลาร์เซลล์
“เป็นทักษะที่โลกกำลังต้องการ ซึ่งทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับแรงงานในส่วนนี้ในอนาคต โดยต้องทำไปควบคู่กับการออกแบบการสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสม”
นายบัญฑิต นิตถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบา กล่าวในหัวข้อ “การกระจายอำนาจเพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” ว่า การตัดสินใจที่ดีของผู้นำท้องถิ่นถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ตามกฎหมายด้านการกระจายอำนาจนั้น ได้ครบทั้ง 3 เรื่อง คือ การเลือกผู้นำท้องถิ่น ระบบบริหารและด้านการคลัง คำถามคือ เราจะใช้ประโยชน์ของ 3 สิ่งนี้อย่างไรเพื่อนำไปสู่การเติบโตของท้องถิ่น โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจที่ดีของผู้นำของท้องถิ่นที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น
โดยเงื่อนไขสำคัญมี 3 เรื่อง คือ เน้นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีระบบการคานอำนาจ และที่สำคัญ คือ ต้องมีธรรมาภิบาล ซึ่งถือว่า เป็นจุดอ่อนสำคัญของภาครัฐที่เราต้องการเห็นการทำงานที่โปร่งใส พร้อมให้มีการตรวจสอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของท้องถิ่นคือเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศก็จะเข้มแข็งไปด้วย แต่ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ในแง่ท้องถิ่นเองจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเช่นกัน
“วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราวและสิ้นเปลืองมาก ฉะนั้น เราต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เช่น เทศบาลต้องหาทางช่วยเหลือธุรกิจของท้องถิ่นให้มีการปรับตัวรับผลกระทบ เช่น รัฐบาลอาจมองข้ามเรื่องการสร้างงาน ซึ่งถ้าไม่มีการงาน ก็ไม่มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ฉะนั้น ท้องถิ่นจะต้องคิดถึงวิธีการจ้างงานให้เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ ในเรื่องของหนี้ในระบบนั้น ทางท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขด้วยการเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างประชาชนที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน โดยรวบรวมกลุ่มคนที่เป็นหนี้ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินได้ทำงานได้ง่ายและช่วยเหลือประชาชนได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
สำหรับนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ดังนั้น เราจึงอยากเห็นนโยบายสาธารณะที่ดีของท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ท้องถิ่นเองก็มีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ ความขัดแย้งในผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ความรู้ความสามารถของผู้ที่มาทำหน้าที่ และ การทำหน้าที่อย่างมีธรรมภิบาล
“แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจที่ดีแล้ว แต่ถ้าการตัดสินใจสุดท้ายไม่ดี ก็ไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งผมมองว่าจะเป็นจุดอ่อนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง”
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิตภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเหตุการณ์โควิด-19 ได้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นลดลง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ลดลง ฉะนั้น ท้องถิ่นถือเป็นเครื่องจักรที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น ในระยะต่อไปควรทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณจะจัดสรรจากระบบบนไปสู่ระดับล่าง แต่นับจากปี 2567 ท้องถิ่นกว่า 7,500 หน่วยทั่วประเทศ จะเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อของบประมาณจากสำนักงบประมาณได้โดยตรง ฉะนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในท้องให้เข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาควรเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
“ทุกวันนี้เราโตกระจุก สะท้อนจาก รายได้ของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานคร มีรายได้ต่อหัวที่ 5.8 แสนบาทต่อปี ระยอง 8 แสนบาทต่อปี นราธิวาส 5.5 หมื่นบาทต่อปี แม่ฮ่องสอน 6.3 หมื่นบาทต่อปี หนองบัวลำภู 5.9 หมื่นบาทต่อปี นี่คือความแตกต่าง ฉะนั้น เมื่อภาครัฐเปิดโอกาสให้เสนอโครงการของบ จึงถือเป็นโอกาสของท้องถิ่นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเอง” นายมนตรี กล่าว