ESG และ การลงทุนของกองทุนบำนาญของสหรัฐ

ESG และ การลงทุนของกองทุนบำนาญของสหรัฐ

ESG ซึ่งย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) น่าจะยังคงเป็นกระแสที่ผู้อ่านทุก ๆ ท่านได้ยินบ่อยในช่วงนี้

ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันเริ่มคำนึงถึงปัจจัยทางด้าน ESG มากขึ้นในการเลือกลงทุนในบริษัทหรือการจัดพอร์ตการลงทุน

สำหรับ การบริหารเงินลงทุนส่วนบุคคลหรือของภาคเอกชน การจะกำหนดนโยบายการลงทุนอย่างไรก็ค่อนข้างเป็นอิสระของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ว่าจะเลือกเน้นเรื่องผลตอบแทนหรือเรื่อง ESG หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม

เช่นเดียวกัน ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ผู้บริหารบริษัทให้น้ำหนักเรื่อง ESG ในการตัดสินใจทิศทางของธุรกิจมากขึ้น

หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แนวความคิดที่ว่าวัตถุประสงค์สุงสุดของบริษัทนั้นคือการเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นให้ได้สูงสุด (Shareholder Profit Maximization) เป็นแนวความคิดหลัก

แนวคิดการเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นให้ได้สูงสุดนั้น เป็นแนวคิดที่ส่งผลต่อการออกแบบกฎหมายบริษัทและกฎเกี่ยวธรรมาภิบาลของบริษัทในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

กระแส ESG นั้นอาจกำลังทำให้แนวคิดนี้สั่นคลอน เนื่องจากแนวคิด ESG อาจจะทำให้แนวคิดการเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นให้ได้สูงสุดมีความสำคัญไม่มากเท่าเดิม

คำถามที่อาจจะต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คงเป็นเรื่องที่ว่า นโยบายการลงทุนหรือบริหารบริษัทโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้าน ESG ส่งผลอย่างไรในระยะยาวต่อผลตอบแทนของการลงทุน การเติบโตของบริษัท เศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม

ESG และ การลงทุนของกองทุนบำนาญของสหรัฐ

ในครึ่งหลังของบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับกฎการลงทุนด้าน ESG ของกองทุนบำนาญสหรัฐ จากบทความเรื่อง Biden’s First Veto: Understanding the Implications of the DOL’s ESG Rule

บทความของสำนักงาน Simpson Thacher & Bartlett LLP ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ Harvard Law School Forum on Corporate Governance

กองทุนบำนาญสหรัฐ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย The Employee Retirement Income Security Act of 1974 หรือที่เรียกโดยย่อโดยทั่วไปว่า ERISA ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงานของสหรัฐ (Department of Labor)

หากมองย้อนกลับไป กฎการลงทุนของกองทุนบำนาญสหรัฐเป็นประเด็นทางการเมืองของสหรัฐมาหลายปีแล้ว

เดิมทีกระทรวงแรงงานของสหรัฐมีจุดยืนให้ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนมีหน้าที่ตัดสินใจการลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยทุกอย่างที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและผลตอบแทนการลงทุนอย่างสมเหตุสมผลได้

อย่างไรก็ดี ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนจะไม่สามารถให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นจนทำให้เสียผลตอบแทนหรือเพิ่มความเสี่ยงของการลงทุนได้

แต่เมื่อปี พ.ศ. 2563 ในช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กระทรวงแรงงานของสหรัฐได้ออกกฎการลงทุนที่กำหนดให้ ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนควรจะคำนึงถึงปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างเป็นสาระสำคัญ ตามวิสัยทัศน์การลงทุนที่สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนเท่านั้น

ESG และ การลงทุนของกองทุนบำนาญของสหรัฐ

กฎการลงทุนนี้ไม่ได้ระบุเจาะจงหรือพูดถึงถึงปัจจัยด้าน ESG แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2566  ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน

กระทรวงแรงงานของสหรัฐ ได้ออกกฎการลงทุนใหม่เพื่อแก้ไขกฎการลงทุนที่กล่าวข้างต้นซึ่งออกมาในช่วงรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

กฎใหม่นี้กำหนดให้ผู้ดูแลทรัพย์สินกองทุนสามารถและควรจะพิจารณาปัจจัยทุก ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนได้ทั้งหมด

โดยระบุชัดเจนว่าปัจจัยเหล่านั้น อาจรวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศหรือปัจจัยด้าน ESG อื่น ๆ (กฎการลงทุนด้าน ESG)

อย่างไรก็ดี กฎการลงทุนด้าน ESG ไม่ได้แนะนำหรือบังคับให้ผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินกองทุนต้องพิจารณาปัจจัยด้าน ESG แต่อย่างใด

หลังจากนั้น อัยการในรัฐรีพับลิกัน 27 รัฐได้ส่งจดหมายถึงรัฐสภาสหรัฐโดยชี้แจงว่า กฎการลงทุนด้าน ESG นั้นผิดข้อกำหนดของตัวบทของ ERISA และเรียกร้องให้รัฐสภาจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งรัฐสภาสหรัฐได้ผ่านมติที่จะเป็นผลยกเลิกกฎการลงทุนด้าน ESG ดังกล่าว

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จึงใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) มติของรัฐสภาสหรัฐเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นความเห็นที่แตกต่างของสองขั้วการเมืองในเรื่องเกี่ยวกับ ESG ท่ามกลางกระแสการเมืองของสหรัฐ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แนวโน้มเกี่ยวกับ ESG ทั้งในสหรัฐและทั่วโลกจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใดต่อไป

คอลัมน์ Business&Technology Law

ดร.ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล

ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล

ที่ปรึกษากฎหมายด้านM&Aไทย-ญี่ปุ่น

[email protected]