ตลท.ยก ESG Platform หนุนตลาดทุน-ใบเบิกทางธุรกิจโต
เปิดฉากแล้วสำหรับงานสัมมนา “EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth” ของ "กสิกรไทย" รวมสุดยอดผู้บริหารชั้นนำระดับโลกกว่า 30 รายมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ ชี้ให้เห็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อก้าวกระโดดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยมี 11 กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้กว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2030 งานนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลามกว่า 2,000 คน
โดยแนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (Sustainability) ประกอบด้วย Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ซึ่งธุรกิจจะก้าวกระโดด สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ยังเป็นทั้ง “ความท้าทายและโอกาส” ที่มาพร้อมกัน
"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีปัญหาที่ท้าทายและอาจฉุดรั้งการพัฒนาในอนาคต แต่ก็เป็นความท้าทายที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจที่สามารถปรับตามแนวทางแห่งความยั่งยืนได้ก็จะเพิ่มโอกาสและรายได้ ใครทำได้ก่อนก็รับโอกาสก่อน
สำหรับ โจทย์ที่เข้มข้นมากขึ้นในการพัฒนา ESG สร้างความท้าทายและฉุดรั้งการพัฒนาในอนาคตมาจากปัญหา 4 เรื่อง คือ 1. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกและระบบนิเวศน์ที่เริ่มมีวิกฤติรุนแรงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล เช่น ภาวะโลกร้อน 2. ปัญหาการกระจายรายได้และสร้างความมั่งคั่งที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ถือเป็นปัญหาต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวในการแก้ไข
3. ปัญหาด้านคนที่มีความแตกต่างและมีความหลากหลาย เช่น คนครึ่งประเทศอยู่ในกลุ่มครัวเรือนเปาะบางทั้งรายได้และความเป็นอยู่ ภาระหนี้ของประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่ลดลง รวมถึงสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น มีรายได้และเงินออมไม่พอการใช้จ่ายเป็นปัญหากดดันวัยแรงงานสู่ปัญหาครอบครัวไม่มั่นคง 4.ปัญหาความไม่สงบสุขของโลก ที่ยังมีความขัดแย้งกันในปัจจุบันของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ
และหากถามว่า ทำไมวันนี้ ต้องธุรกิจที่ยั่งยืน ? เพราะว่ายังมี "3ปัญหาเร่งด่วน" ของการก้าวข้ามโลกใบเดิมสู่โอกาสใหม่ในการเติบโต และพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจกระโดดไปได้ไกล
คือ 1. ทรัพยาการธรรมชาติที่จำกัดและเข้าขั้นวิกฤติ ธุรกิจต้องเตรียมการและปรับตัวสู่ ESG เช่น หาทางลดและใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยง 2. กฎเกณฑ์กติกาและมาตรฐานใหม่ๆ ผลักดันและสนับสนุน ESG เช่น การยกระดับ ESG ด้วยเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล และการกำกับกิจการของบจ. และ FTA ไทย-อียู การยกระดับมาตรฐานการค้าที่สูงขึ้น และ 3. ความต้องการเรื่อง ESG มากขึ้น เช่น ตลท. เพิ่มโอกาสในการระดมทุน ของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจ ESG มากขึ้น
“ซึ่งแต่ละปัญหาก็มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้าน ESG มากขึ้น และทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน”
“ประสาร” กล่าวว่า ตลท. จะช่วยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เราเล็งเห็นความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจการลงทุน ESG ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมาก จึงได้เร่งพัฒนา ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล สร้างความโปร่งใสและสร้างมาตรฐาน ESG ในการดำเนินกิจการ , การพัฒนา ESG Academy Platform บ่มเพาะและเผยแพร่ความรู้ด้านความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อยกระดับ ESG Development ของตลาดทุนไทย และการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผ่าน LiVE Platform และกระบวนการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เพิ่มโอกาสในการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดำเนินการด้าน ESG ได้อย่างดี
“เราทำงานใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียนรวมถึงสถาบันที่เป็นตัวกลางในการยกระดับความรู้และคุณภาพการดำเนินกิจการ ซึ่งรวมไปถึงคู่ค้าในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เท่าทันการแข่งขัน”
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไทย ได้นำ ESG เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นความตั้งใจของ บจ. ส่งผลให้ตลาดไทยมีความโดดเด่น มี บจ. ที่ติดอันดับชี้วัดความยั่งยืนของโลกหลายบริษัทมีบริษัทที่ติด DJSI (Dow Jones Sustainability Index) มากสุดในภูมิภาค
"การเดินหน้าขับเคลื่อน ESG ในองค์กรไม่ใช่เป็นภาระแต่เป็นเสมือนใบเบิกทางสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการสร้างคุณค่าได้อย่างแท้จริง ดังนั้น หากธุรกิจหรือใครยังมองว่าความยั่งยืนเป็นภาระที่ต้องจ่ายและรอได้ต้องรีบมองใหม่ เพราะจริงๆ แล้วความยั่งยืนเปิดโอกาสใหม่มากมาย"
ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีภาคธุรกิจมุ่งสู่ความความยั่งยืนแล้ว เช่น ฟินแลนด์ เป็นผู้นำโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน, ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เกิดธุรกิจใหม่ นักเคลียร์ของไทยพัฒนาแอปฯ ลดปัญหา food waste /surplus แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง แอปฯ Hindi Oho , เดนมาร์ก มีบทลงโทษในการทิ้งขยะอาหาร
ท้ายที่สุด ESG ไม่ใช่หน้าที่ใครคนเดียวหรือคนหนึ่งคนใดที่จะเป็นคนทำ แต่ทุกคนในองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาบูรณนาการร่วมกัน เพื่อผลักดันการทำ ESG ให้สัมฤทธิผลได้ ให้การเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความร่วมมือกันของคนทุกภาคส่วน และเกิดความรู้ความเข้าใจของคนที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งต้องหาแนวทางทำอย่างไร จะร่วมกันพัฒนาคนที่เป็นหัวใจของการพัฒนาความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จำนวนมาก กว้างขวาง และรวดเร็ว
"ประสาร" กล่าวว่า ในวันนี้ Sustainability ถือเป็น “License to Grow” หรือใบอนุญาตสำคัญให้ธุรกิจมีสิทธิเติบโตในระยะยาวอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเติบโตที่ทุกคนต้องการและมีคุณภาพมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหลือเพียงทุกภาคส่วนหันหน้ามาผนึกกำลัง ลงมือทำเพื่ออนาคตของลูกหลานไทย