แนวโน้มและ 4 โอกาสการลงทุนในไตรมาส 2 นี้
ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ทั้งเร็ว และแรงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980
ปัจจุบันนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่างๆ เริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว เราจึงเริ่มเห็นว่าความกังวลของนักลงทุนได้เปลี่ยนจากเรื่องอัตราเงินเฟ้อไปสู่ประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน
สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสินทรัพย์ต่างๆ และพอร์ตการลงทุนของคุณอย่างไร
เราขอสรุปผ่าน 4 แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้านี้
1) การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจชะลอตัวลงอีก ในเดือนมี.ค. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่างชะลอตัวลง เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ (PMI) ได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี การใช้จ่ายผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวลง การขอรับสวัสดิการ การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นแม้ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ฯลฯ
อีกทั้งในภาพใหญ่เศรษฐกิจยังเจอผลกระทบจากกรณีแบงก์ล้มที่อาจลามไปสู่ธนาคารขนาดเล็กในสหรัฐ และการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ซึ่งการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นนี้ยังเกิดขึ้นในยุโรปด้วย โดยข้อมูลในอดีตพบว่าเมื่อการปล่อยสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น มักเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
ทั้งนี้ แม้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นให้กับนักลงทุน แต่นี่คือ ผลลัพธ์ที่ธนาคารกลางต่างๆ ต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
2) เราอาจเริ่มเห็นจุดสิ้นสุดของนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากธนาคารกลางต่างๆ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง เงินเฟ้อมักจะปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งในตอนนั้นธนาคารกลางต่าง จะหันมากระตุ้นเศรษฐกิจแทน
โดยปัจจุบัน ตลาดคาดว่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ Fed จะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดคาดไว้
3) เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวแต่อาจไม่มากพอที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัว แม้ไตรมาส 1/2566 นี้ GDP ของจีนจะโตถึง 4.5% YoY แต่แนวโน้มการฟื้นตัวนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะการฟื้นตัวนี้มาจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายหมวดสินค้า และบริการภายในประเทศ ดังนั้นการเติบโตนี้อาจไม่ได้ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เหมือนในอดีต
4) ดอลลาร์สหรัฐอาจมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงจุดจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed โดยตั้งแต่ปี 2565 ที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเร็ว และแรง รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าในสินทรัพย์ที่เป็น USD และทำให้ USD แข็งค่าขึ้น แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นการอ่อนค่าลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุดในเดือนก.ย.2565
ดังนั้นเมื่อใกล้ถึงจุดจบวงดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้ USD ผันผวนน้อยลง และเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลง ซึ่งอาจทำให้สกุลเงินอื่นๆ ผันผวนน้อยลงด้วย และเคลื่อนไหวจากปัจจัยในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นมากมาย เรายังคงมองว่าการปรับพอร์ตให้มีลักษณะ Defensive มากขึ้นยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดย StashAway ได้ทำการ Re-optimisation ครั้งล่าสุดในเดือนธ.ค. 2565 ตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าเราเริ่มเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจหดตัว แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง)
ที่สำคัญ ในไตรมาส 2/2566 เรายังคงมองเห็น 4 โอกาสการลงทุน ได้แก่
● ตราสารหนี้ระยะสั้น ยังมีความน่าสนใจเนื่องจากปัจจุบันมี Yield ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่
● ตราสารหนี้ระยะยาวอาจเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อตลาดเริ่มเห็นแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยปกติแล้วเมื่อ Yield และความผันผวนของตราสารหนี้ไม่ปรับตัวสูงขึ้น ถือเป็นข่าวดีของนักลงทุน (เนื่องจากราคา และ Yield ของตราสารหนี้มักเคลื่อนไหวสวนทางกัน)
● ทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์สำคัญในการปกป้อง และสร้างสมดุลให้กับพอร์ตท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด อย่างที่เราเห็นกันในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
● หุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare และ Consumer Staples มีแนวโน้มจะ Outperform มากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัยกว่า
● สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างจีน รวมถึงดอลลาร์สหรัฐที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้เราเห็นโอกาสในการกระจายการลงทุน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เรายังคงสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ไว้
แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าอาจมีความไม่แน่นอนสูง แต่เศรษฐกิจมักดำเนินไปเป็นวัฏจักรอยู่เสมอ โดยจะมีทั้งช่วงที่เติบโต และหดตัวเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา
ดังนั้น นักลงทุนควรโฟกัสในการลงทุนระยะยาวรวมถึงมีการกระจายการลงทุนที่ดี เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้สำเร็จ ที่สำคัญยังช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจ แม้จะต้องเจอกับความผันผวนในระยะสั้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์