เช็กลิสต์ ‘รายจ่าย’ จากสินค้าแจก-แถม กิจการต้อง ‘เสียภาษี’ อะไรบ้าง

เช็กลิสต์ ‘รายจ่าย’ จากสินค้าแจก-แถม กิจการต้อง ‘เสียภาษี’ อะไรบ้าง

ธุรกิจต้องรู้ รายจ่ายจากกิจกรรมส่งเสริมการขายและบริการ มีทั้งที่ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้และไม่ได้ โดยเฉพาะแบบไหนเป็น ‘รายจ่ายต้องห้าม’ ที่ควรทราบเพื่อวางแผนภาษี

การประกอบธุรกิจย่อมมีช่วงขาขึ้นและขาลง เป็นสัจธรรมของชีวิตที่เห็นเด่นชัดว่า ในช่วงขาลงผู้ประกอบการทุกสายงาน จะต้องงัดกลยุทธ์ออกมาใช้เพื่อให้ผลประกอบการในช่วงขาลงนั้นดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแจกของฟรี แถมสิ่งของเมื่อมีการซื้อหรือใช้บริการ แจกคูปองแลกซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เป็นต้น  

โดยรายจ่ายที่กิจการได้ใช้ไปกับกิจกรรมส่งเสริมการขายและบริการเหล่านี้ มีทั้งแบบที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ และบางกรณีก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ นั่นหมายความว่าเป็น “รายจ่ายต้องห้าม” กิจการเสียเงินอย่างเดียวโดยไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ แต่ก็อาจมีประโยชน์กับกิจการในรูปแบบอื่นๆ

ดังนั้น กิจกรรมส่งเสริมการขายลักษณะใด จะใช้ประโยชน์ทางภาษีได้บ้าง หรืออาจต้องเสียภาษีเพิ่ม รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์ทางอื่นใดได้บ้าง ต้องไปติดตามพร้อมกัน

1. การแจกสินค้า (Free distribution)

1.1 การแจกสินค้าตัวอย่าง (Sampling) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

1.2 การแจกสินค้า/ให้ของขวัญตามเทศกาล ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

1.3 การแจกโดยซื้อสินค้าอื่นไปใช้เป็นของแจก ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

1.4 การแจกสินค้าตัวอย่างให้ผู้จัดจำหน่าย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

2. การใช้คูปอง(Used Coupon)

2.1 คูปองแลกซื้อสินค้า ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายจ่ายของกิจการ   

2.2 คูปองส่วนลดค่าสินค้า ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายจ่ายของกิจการ   

2.3 คูปองสะสมแต้มตามแผนส่งเสริมการขาย ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายจ่ายของกิจการ   

3. ของแถมที่ให้ผู้บริโภค (Premium)

3.1 ของแถมที่ใส่ในหีบห่อหรือในกล่องสินค้า (In-pack Premium) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

3.2 ของแถมที่แนบติดไปกับสินค้า (On-Pack Premium) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ

3.3 ของแถมแยกชิ้นอิสระที่ให้ต่างหากจากสินค้า (Near-pack) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

3.4 ของแถมที่ส่งให้ภายหลังการซื้อสินค้า/ใช้สินค้า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

3.5 ของแถมที่ส่งทางไปรษณีย์ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

3.6 ของแถมที่ใช้ชิ้นส่วนแลกซื้อ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

3.7 ของแถมที่มีมูลค่ามากกว่าสินค้า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้  

3.8 การแถมบริการหีบห่อ (Packaging) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

4. ส่วนลด (Discount)

4.1 ส่วนลดการค้าพร้อมการขาย (Trade Discount) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

4.2 ส่วนลดเงินสดพร้อมการขาย (Cash discount) ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

4.3 ส่วนลดภายหลังที่เป็นรางวัลจากการส่งเสริมการขาย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ และต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  

5. ของขวัญและของชำร่วย (Gift & Supplement)

5.1 ให้ในโอกาสเปิดร้าน เทศกาล แนะนำสินค้าใหม่ ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

5.2 ให้สินค้าอื่น ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกค้า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้

6. ของรางวัล

6.1 รางวัลจากการแข่งขันหรือชิงโชค (Contest & Sweepstakes) ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ และต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  

6.2 รางวัลหรือโบนัสที่ได้รับจากการส่งเสริมการขาย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงถือเป็นรายจ่ายของกิจการ และต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย  

7. การบริจาคสินค้า (Donation)

7.1 บริจาคสินค้าให้องค์การสาธารณกุศล, สถานศึกษาเอกชน  ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

7.2 บริจาคสินค้าให้หน่วยราชการ/รัฐบาล สถานพยาบาลเอกชน ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และถือเป็นรายจ่ายของกิจการ  

7.3 บริจาคสินค้าให้สำนักสงฆ์ มูลนิธิ/สมาคมที่ไม่อยู่ในรายชื่อประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศล คณะบุคคลอื่น ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  

สรุป... ภาระภาษีกรณีแจก แถม และสินค้าที่ใช้ไปในการส่งเสริมการขาย

ดังนั้น เมื่อกิจการจะทำกิจกรรมส่งเสริมการขายหรือบริการของตนเอง ควรเลือกวิธีที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือสามารถนำมาหักภาษีซื้อ หรือนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่น ของแถมที่แนบติดไปกับสินค้า จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำมาหักภาษีซื้อได้ รวมถึงยังนำไปเป็นต้นทุนรายจ่ายของกิจการ (นิติบุคคล) เพื่อหักรายจ่ายทางภาษีได้  

ในทางตรงกันข้าม หากให้ของแถมโดยส่งทางไปรษณีย์ไปให้ กิจการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) เพราะถือเป็นการขาย และนำส่งภาษีขายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี ส่วนใบกำกับภาษี (ภาษีซื้อ) ที่ได้รับจากการซื้อสินค้ามาเพื่อเป็นของแถมนั้น สามารถนำมาหักภาษีซื้อได้ และยังนำมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการ เพื่อช่วยประหยัดภาษีเพิ่มได้อีกด้วย

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting