ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(16 พ.ค.) ‘แข็งค่า’ จากดอลลาร์อ่อนค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้(16 พ.ค.) ‘แข็งค่า’ จากดอลลาร์อ่อนค่า

“ค่าเงินบาท”เปิดตลาดวันนี้”แข็งค่า”ที่33.74บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” จากทิศทางดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลัก ขณะที่ความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาลผสม ตลาดกังวลต่อปัญหาการเมือง ตลาดรอทยอยขายทำกำไร ต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อหุ้นไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 พ.ค.)  ที่ระดับ  33.74 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.79 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์

แม้ว่า เงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้ง แต่จะเห็นได้ว่า ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อปัญหาการเมือง ซึ่งเรามองว่า ประเด็นดังกล่าวอาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากจนทะลุแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้กลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทย อย่างที่เราคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้งของไทยได้

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง (เราคงมุมมองเดิมว่า เงินดอลลาร์จะมี upside ที่จำกัดในระยะสั้นจากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว)

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนีภาคการผลิต (NY Empire Manufacturing Index) เดือนพฤษภาคม ก็ดิ่งลงสู่ระดับ -31.8 จุด แย่กว่าคาดและยังคงสะท้อนภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Meta +2.2%, Nvidia +2.2% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.66% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.30%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.25% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Axa +2.4% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึงรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ซึ่งจะส่งผลต่อหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์(DXY) ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 102.5 จุด กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงความกังวลต่อปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างออกมาปฏิเสธการลดดอกเบี้ยของเฟดในช่วงปลายปี ตามที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่ทว่าท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดและตึงตัวของเฟดก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงสู่ระดับ2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับอีกครั้ง

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนอาจพลิกกลับมาขยายตัว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับภาวะการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการปรับตัวขึ้นของยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังราคาพลังงานปรับตัวขึ้นในเดือนเมษายนพอสมควร นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับฝั่งผู้นำสภาผู้แทนฯ ของพรรครีพับลิกัน และที่สำคัญ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้

 

ในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี(ZEW Economic Survey) ในเดือนพฤษภาคม อาจปรับตัวลดลงแรงสู่ระดับ -5.5 จุด สะท้อนว่า บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองที่เชิงลบหรือกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากผลกระทบของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงภาวะค่าครองชีพสูง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB

 

ส่วนในเอเชีย ไฮไลท์สำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน อาจขยายตัว +20%y/y สอดคล้องกับการรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการก่อนหน้าที่ยังคงอยู่ในระดับเกิน 50 จุด สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ