ตระกูลอาหุนัย รุก 'บลน.' เน้นเจาะกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ธ

ตระกูลอาหุนัย รุก 'บลน.'  เน้นเจาะกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ธ

"ตระกูลอาหุนัย" รุกปั้น บลน.น้องใหม่ “เวลธ์ คอนเซปท์” ดันเอยูเอ็มสิ้นปีนี้ 3 พันล้าน - ปี 68 แตะ “หมื่นล้าน” ติดท็อปไฟท์ ชูจุดแข็ง “ทีมอาร์เอ็ม” แกร่ง มัดใจกลุ่มลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ จ่อขอไลเซนส์ขายตราสารหนี้เพิ่มปีหน้า

บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) เวลธ์ คอนเซปท์ จำกัด เริ่มเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565 ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ง (LBDU) การเป็นนายหน้าค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน

โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วย นายเอก อาหุนัย (บุตรชาย นายสมโภชน์ อาหุนัย) ถือหุ้นสัดส่วน 22.86% ,นางสาวณัฏฐญาดา บูรณอรรถชัย ถือหุ้นสัดส่วน 22.86% และนายธำมรงค์ ยงพิทยาพงศ์ ถือหุ้นสัดส่วน 14.29%

 นายเจษฎา ยงพิทยาพงศ์ กรรมการและผู้จัดการ บลน.เวลธ์ คอนเซปท์ กล่าวว่า บริษัทเกิดจากแนวคิด “ การบริหารความมั่นคั่งอย่างยั่งยืน ” นำความรู้ และประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (RM) ส่วนใหญ่มาจากธนาคารพาณิชย์ เป็นมืออาชีพ และระบบการซื้อ-ขายหน่วยลงทุนสะดวกรวดเร็ว และโปร่งใส  ซึ่งเป็นระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังให้บริการทางออนไลน์ ขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ และคนที่อยากลงทุนด้วยตัวเองเพิ่มเติมอีกด้วย 

นอกจากนี้ ในปีหน้าบริษัทเตรียมขอใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ บลน.เกี่ยวกับตราสารหนี้ ทั้งตลาดแรก และตลาดรองเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดธุรกิจขยายฐานลูกค้าในกลุ่มพันธมิตรผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น กลุ่มลูกค้าเงินฝากของ บมจ.เงินทุน แอ็ดวานซ์ และลูกค้าหลักทรัพย์ จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บียอนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ BYD

ทั้งนี้บริษัทมีพันธมิตรบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) 11 แห่ง คาดสิ้นปีนี้ครบทั้ง 16 แห่ง  ซึ่งจะมุ่งแนะนำ และขายกองทุนต่างประเทศ (FIF) เป็นหลัก ช่วยให้นักลงทุนไฮเน็ตเวิร์ธ มีทางเลือกกระจายการลงทุนไปทั่วโลก อีกทั้งกองทุนประเภทนี้ยังมีค่าธรรมเนียมสูง และเป็นมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 

นายเจษฎา กล่าวว่า ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นจุดแข็ง และต่างจาก บลน.อื่นที่ส่วนใหญ่เป็นซื้อขายบนออนไลน์ และเน้นลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก จึงคาดว่าบริษัทจะเริ่มคืนทุนได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป จากปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนราว 400 ล้านบาท และเติบโตก้าวกระโดดตามเป้าหมายการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) 

ทั้งนี้ใน 5 เดือนแรกนับจากวันเริ่มให้บริการ บริษัทมี AUM สูงถึง 2,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2566 ,ในปี 2567 อยู่ที่   5,000 ล้านบาท และปี 2568 แตะ 10,000 ล้านบาท ติดอันดับ 1 ใน 5 ของธุรกิจ บลน.จากปัจจุบันอยู่อันดับ 10 

และจะเป็น บลน.ที่มีเจ้าหน้าที่อาร์เอ็มมากที่สุด จากปัจจุบันมี 42 คน และจะมากกว่า 60 คนในสิ้นปีนี้  มองว่า ทั้งเจ้าหน้าที่อาร์เอ็ม และลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธจะเพิ่มขึ้นอีกมาก หลังจากที่บริษัทจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 12 มิ.ย.นี้ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าจำนวนมากกว่า 450 คน และถึงสิ้นปี 2567 จะมีจำนวน 700 คน และเพิ่มเป็นถึงระดับ 1,000-1,500 คนในปี 2568 ส่วนใหญ่สัดส่วน 80% เป็นลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ มีเงินลงทุนเฉลี่ยต่อราย 30 ล้านบาท

     

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์