ระวังตกรถ! 'หุ้นญี่ปุ่น' พุ่งทุบสถิติ สวนทางเงินเยนอ่อนค่า
เมื่อ "หุ้นญี่ปุ่น" ท็อปฟอร์มเกินคาด สวนทางเงินเยนอ่อนค่า "มอร์นิ่งสตาร์" เผยกองทุน SCBNK225E ลงในกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ผลตอบแทนนำโด่ง 29.05% ด้าน "จิตตะ เวลธ์" แนะเป็นโอกาสทองของการลงทุนหุ้นดี จัดสรรเงินกระจายลงทุน
ตอนนี้ "ญี่ปุ่น" เป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนตัว แต่หุ้นญี่ปุ่นพุ่งสวนตลาดหุ้นทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น สปอตไลท์จากนักลงทุนใหญ่ของโลกอย่าง ปู่ Warren Buffett ก็ยังเข้ามาลงทุนหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว
ขณะเดียวกระแสการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้วจนถึงทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไม่หยุดหย่อน ปีนี้จะถือเป็นปีทองของญี่ปุ่นก็ว่าได้
เรามาดูกันว่า "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" ที่กำลังท็อปฟอร์มตอนนี้ ในฝั่งกองทุนรวมให้ผลตอบแทนตั้งแต่ตนปีจนถึงปัจจุบัน ทะลุ 20% กันเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก "มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย)" ได้รายงาน “กองทุนหุ้นญี่ปุ่น” ผลตอบแทนสูงสุด 5 อันดับแรก (ณ 15 มิ.ย. 2566) ดังนี้
1.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225E) มีนโยบายการลงทุนในกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ผลตอบแทน 29.05%
2.กองทุนเปิด ทิสโก้ เจแปน อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TJPRMF) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nomura NIKKEI 225 Exchanged Traded Fund ผลตอบแทน 28.08%
3. กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ พาสซีฟ ฟันด์ (KT-JPFUND)
มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน iShares Core Nikkei 225 ETF ผลตอบแทน 27.91%
4. กองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนอิควิตี้อินเด็กซ์เฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFJPINDX) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund
ผลตอบแทน 27%
5.กองทุนเปิดทหารไทย Japan Equity เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBJERMF) มีนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ Nikkei 225 Exchange Traded Fund ผลตอบแทน 26.78%
เชื่อว่า นักลงทุนคงเกิดคำถามในใจมากมายกันแน่ๆ ว่า ทั้ง เศรษฐกิจญี่ปุ่น ตอนนี้เป็นอย่างไร? หลุดพ้นภาวะถดถอยแล้ว จริงหรือ?
และอะไรทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว พลิกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังจากที่ตกอยู่ในภาวะซบเซามาตลอดหลายปีก่อนหน้า แล้วเราจะคว้าโอกาสเข้าไปลงทุนได้อยู่หรือไม่?
ท่องเที่ยว-บริโภค ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ชีพจรเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตดีเกินคาด
"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ ให้มุมมองว่า สัญญาณเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำตลาดเซอร์ไพร์ซมากแล้ว เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เติบโต 1.6% ในอัตรารายปี (annualized rate) ซึ่งออกมาดีเหนือความคาดหมายของตลาด (นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเคยคาดไว้ว่า GDP ญี่ปุ่น ไตรมาสแรกนี้เติบโต 0.7% เท่านั้น) และยังเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในรอบ 3 ไตรมาสด้วย ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นสภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 แล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ GDP โต 0.4% คือ โมเมนตัมของเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคที่พลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้อีกรอบ หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อปีที่แล้ว และการเปิดประเทศที่ทำให้การท่องเที่ยวพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่พัก และการขนส่ง แม้แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างของหลายๆ บริษัทในช่วงที่ผ่านมา
ด้านการลงทุนภาคธุรกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกก็ขยายตัว 0.9% จากที่เคยคาดไว้เพียง 0.4% สะท้อนให้เห็นนักลงทุนกลับมามีความเชื่อมั่นต่อความพยายามปรับปรุงการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและการปรับขึ้นค่าแรงและความเชื่อมั่นต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวต่อเนื่อง
แรงส่งจากไตรมาสแรก ยังต่อเนื่องไปยังเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย ล่าสุด ธุรกิจภาคบริการของญี่ปุ่นเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการ Covid-19 ตั้งแต่ต้นปีนี้ นักท่องเที่ยวล้นตลาดญี่ปุ่น ทำให้การเดินทางในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของระดับก่อนเกิด Covid-19 ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังจะเข้าญี่ปุ่นในไม่ช้านี้ครับ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นไปในทิศทางบวก และแสดงให้เห็นว่าผู้คนไม่กลัว Covid-19 อีกต่อไป
แน่นอนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่รอช้าที่จะมองหาการใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้เพิ่มเติม โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็หวังว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจากผลกระทบของ Covid-19 การกระตุ้น การท่องเที่ยวจะนำไปสู่การใช้จ่ายที่สูงขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) ของ Au Jibun Bank เพิ่มขึ้นเป็น 55.4 จุดในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจาก 55.0 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าระดับ 50 ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่น เติบโตมาจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรปและจีนที่ชะลอตัว ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ภาคส่งออกของญี่ปุ่น ขยายตัว 2.6% ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่เดือนก.พ. ปี 2564 ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ยอดส่งออกญี่ปุ่น หดตัวถึง 4.2% ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส โดยความต้องการสินค้าลดลงในตลาดโลกไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น ด้านยอดนำเข้า เดือนเมษายนลดลง -2.3% ซึ่งปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าทั้งสิ้น 4,324 แสนล้านเยน หรือ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ญี่ปุ่นยืนนโยบายการเงินเผ่อนคลาย หนุนเศรษฐกิจโต ค่าเงินเยนอ่อน
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มพลิกฟื้นกลับมาได้ดีเกินคาด แต่รัฐมนตรีสายเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ‘ซิเงยูกิ โกโตะ’ ออกมาส่งสัญญาณว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง แต่ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากตลาดเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำหรับความเสี่ยงของญี่ปุ่น นอกจากด้านส่งออกของญี่ปุ่นที่ไม่แน่นอนแล้ว ยังมีอีกประเด็นใหญ่ คือ เงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้นสูง โดยเดือนเมษายน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดแต่รวมสินค้าพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.4% จากปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมี.ค.และก.พ. และถือว่าเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุด นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 4.2% ในเดือนม.ค. สาเหตุที่เงินเฟ้อญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง ทำให้ตลาดการเงินไม่มั่นใจในมุมมองของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ได้ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนี Core CPI อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน 13 เดือนแล้ว จึงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะกำลังเตรียมการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดย ING โบรกเกอร์สัญชาติเนเธอ์แลนด์ มองว่า GDP ญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง อาจจะทำให้ BOJ พิจารณาการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ซึ่ง ING ก็คาดการณ์ว่า จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2567
ความวิตกกังวลของตลาด ทำให้ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ต้องออกมาประกาศว่าจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเป็นพิเศษ (Ultra-easy monetary policy) เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตโดยทำให้การกู้ยืมเงินมีราคาถูกลง และกระตุ้นให้ผู้คนและธุรกิจใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น
ธนาคารกลางจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินปัจจุบัน เพื่อรักษาสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ (ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับ -0.1%) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ผู้ว่าการ BOJ ‘Haruhiko Kuroda’ ให้ความมั่นใจกับตลาดด้วยตัวเอง
ส่งผลให้เงินเยนยังอ่อนค่า และ..หุ้นพุ่งขึ้น
"ตราวุทธิ์" นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นตอบรับในทิศทางบวก โดย ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นทั้ง Nikkei และ Topix ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 33 ปี จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจญี่ปุ่นต่างกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้อย่างชัดเจน
สำหรับค่าเงินเยนที่อ่อนลงนั้น จะส่งผลดีต่อนักลงทุนแลกเงินไปลงทุนหุ้นญี่ปุ่นได้มากขึ้นนั่นเอง และหากมองในระยะข้างหน้า มีการคาดการณ์กันว่า ค่าเงินเยนอาจจะกลับมาแข็งค่าได้ ก็จะทำให้ได้กำไรจากค่าเงินอีกต่อด้วย
หากถามว่าโอกาสที่ค่าเงินเยนจะแข็งค่าแค่ไหน ทางบริษัทหลักทรัพย์ UBS ให้มุมมองว่า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยของสองประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเยนที่จะได้รับผลประโยชน์หลักจากการตัดสินใจของ Fed และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น (แข็งค่า) เป็น 120 เยนต่อดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นประมาณ 11% จากระดับ 134 เยนต่อดอลลาร์เมื่อต้นเดือนพ.ค.นี้
"อ่านมาถึงตรงนี้ คุณน่าจะมองเห็นโอกาสการลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นแล้วทั้งด้วยปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และแน่นอนว่า ด้านผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นหลายๆแห่ง ก็ออกมาดีเกินคาดไปอีกด้วย"
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยิ้ม ปู่ Warren Buffett เข้าลงทุนเพิ่มอีกแล้ว
อีกข่าวบวกที่ทำให้ญี่ปุ่นยิ้มแฉ่ง ก็คือ ปู่ Warren Buffett ประกาศ ลงทุนหุ้นญี่ปุ่น เพิ่ม ประกอบไปด้วย Itochu, Marubeni, Mitsubishi, Mitsui และ Sumitomo ปู่มองว่า 5 หุ้นญี่ปุ่นนี้จะมีอนาคตที่สดใสและทำเงินให้เขาได้อีกมหาศาล จริงๆแล้ว ‘Berkshire Hathaway’ ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของปู่ ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้มานานแล้ว โดยที่ Buffett ยังคงให้ความสนใจและตื่นเต้นในศักยภาพการเติบโตของหุ้นญี่ปุ่นทั้ง 5 แม้นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ญี่ปุ่นไม่โต
นอกจากนี้ ปู่ Warren Buffett ยังมีมุมมองที่ดีเกี่ยวกับการลงทุนในญี่ปุ่นว่า จะช่วยให้ Berkshire ขยายการเติบโตในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย และเขาเองก็กำลังมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศอื่นๆ เช่นกัน
หากจำกันได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นญี่ปุ่นมักโดนมองในด้านลบมาโดยตลอด ถึงแม้การเติบโตจะสวนทางกับข่าวที่รายงานออกมาก็ตาม และยังมีข่าวลือออกมาด้วยว่าปู่ Warren Buffett ได้ขาย 5 หุ้นญี่ปุ่นนี้ทิ้งไปหมดแล้ว ซึ่งสวนทางกับหนังสือรายงานผู้ถือหุ้นที่ Buffett ประกาศว่าจะถือยาว
สำหรับการเข้าลงทุนเพิ่มเติมของปู่ Warren Buffett ในครั้งนี้ ได้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้นักลงทุนเริ่มชายตามามองหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น
"ตราวุทธิ์" แนะนำว่า หากนักลงทุนอยากดูหุ้นดีๆ เหล่านี้ก็สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองได้ในเว็บไซด์ Jitta.com หรือหากใครสนใจอยากลงทุนใน ‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ก็สามารถซื้อผ่านกองทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งทางลัดที่จะทำให้คุณเป็นเจ้าของขุมทรัพย์สมบัติลึกลับนี้ได้
"เชื่อมั่นว่า หลังจากทั่วโลกได้ก้าวผ่านมรสุม Covid-19 กันไปแล้ว ปีนี้ถือเป็นปีที่บริษัทต่างๆ จะตั้งหลักฟื้นคืนชีพกลับมาได้ดีกว่าปี 2565 และคุณอาจจะได้เห็นบางบริษัทที่ทำผลประกอบการในปีนี้ กลับมาทะลุช่วงก่อน Covid-19 ก็เป็นไปได้ ถ้ามองไปข้างหน้าธุรกิจมีการเติบโต ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ระดับต่ำหรือยังปรับตัวขึ้นไปไม่มากเทียบกับมูลค่าของหุ้นนั้นๆ ที่เพิ่มขึ้น"
ขอย้ำว่า นี่คือโอกาสทองของการลงทุนหุ้นดี ๆ ราคาซื้อหาได้ อย่าลืมว่า ฤกษ์ที่ดี คือ เลิกรอ เพราะเวลาไม่รอท่า ถ้านักลงทุนทำการบ้านให้รอบคอบ และจัดสรรเงินกระจายลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น พอร์ตของเรา ก็จะเติบโตไปกับบริษัทเหล่านี้