กรมศุลกากรเปิดหลักฐานแน่น ทุเรียนกว่า 8 พันกิโลกรัม ลักลอบนำเข้าจริง
กรมศุลกากรเปิดหลักฐานแน่น จีพีเอสรถยนต์ขนทุเรียนกว่า 8 พันกิโลกรัม ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจริง พร้อมส่งคดีให้ตำรวจสอบสวนต่อเพื่อความโปร่งใส เตรียมดำเนินคดีสื่อออนไลน์ที่เสนอข่าวบิดเบือน ยันให้ความสำคัญคดีลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรและยาเสพติด
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรแถลงชี้แจงกรณีปรากฎข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรด่านอรัญประเทศ จับกุมทุเรียนที่ไม่ใช่ทุเรียนที่ลักลอบนำเข้าจริงและยังมีการข่มขู่ให้เจ้าของทุเรียนและผู้รับจ้างขนส่งยอมรับความผิดดังกล่าว โดยเขายืนยันว่า กรมฯมีหลักฐานที่แสดงชัดเจนว่า ทุเรียนดังกล่าวเป็นทุเรียนที่มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านจริง โดยจีพีเอสของรถยนต์ที่ขนส่งทุเรียนได้แสดงอย่างชัดเจนว่า มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายข่าวว่าจะมีการลักลอบ จึงได้ทำการจับกุม แต่เหตุที่เราไม่ได้จับที่พรมแดน เพราะพื้นที่ชายแดนไทยฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ทับซ้อน มีด่านศุลกากรเพียง 1 ด่าน ส่วนที่เหลือเป็นด่านธรรมชาติ
“ในการจับกุมทุเรียนชุดนี้ มีสายข่าวแจ้งว่า จะมีการลักลอบนำเข้า เหตุที่เราไม่ได้จับที่พรมแดน เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน ฉะนั้น จึงต้องรอให้เข้าพื้นที่เขตแดนไทย เพื่อทำการจับกุม ก็มีประเด็นว่า ทุเรียนนี้ มาจากจ.ศรีสะเกษ ไม่ได้เป็นทุเรียนลักลอบ กรณีนี้ เรามีหลักฐานที่เป็นจีพีเอสรถยนต์ และมีหลักฐานบันทึกจับกุม"
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการนำทุเรียนลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจค้นจับกุม โดยสายลับจะเป็นผู้นำชี้ให้ทำการตรวจค้นด้วยตนเอง จนกระทั่งเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่ารถบรรทุกที่ขนทุเรียนลักลอบได้ออกจากพื้นที่แนวชายแดนแล้ว มุ่งหน้าไปทางถนนหมายเลข 317 เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่บริเวณที่สายลับแจ้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.45 น. ได้พบรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน 68-2537 กทม. มีผ้าใบคลุมทับ ตามที่ได้รับแจ้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เจ้าหน้าที่จึงให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอทำการตรวจค้น และได้พบคนขับรถ เจ้าหน้าที่ได้แสดงตนพร้อมแจ้งเหตุแห่งความสงสัยให้ทราบ
ผลการตรวจค้นพบทุเรียนสดบรรจุอยู่ภายในกระบะบรรทุก เจ้าหน้าที่ได้สอบถามคนขับรถถึงที่มาซึ่งของที่ตรวจพบ และได้รับคำชี้แจงว่าตนเป็นคนขับรถรับจ้าง โดยได้รับการว่าจ้างให้นำรถบรรทุกมารับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม ที่บริเวณหลังวัดเขาน้อย ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าวมีชาวกัมพูชาเป็นผู้ขนถ่ายทุเรียนขึ้นรถให้ ซึ่งผู้ว่าจ้างได้สั่งให้นำทุเรียนไปส่งที่ล้งใน จ.จันทบุรี โดยได้รับจ้าง 6,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนจะติดต่อผู้ว่าจ้างให้มาพบเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คนขับรถทราบ และนำของกลางพร้อมคนขับรถ และรถบรรทุกคันดังกล่าวส่งด่านฯ อรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ในวันเดียวกันเจ้าของสินค้าได้มาพบเจ้าหน้าที่ โดยแสดงตนเป็นเจ้าของทุเรียนที่ตรวจพบ และได้ให้การรับสารภาพว่าตนได้รับซื้อทุเรียนมาจากชาวกัมพูชาโดยทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยเจ้าของสินค้าให้การรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของสินค้าส่งงานคดี ด่านศุลกากรอรัญประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนประเด็นเรื่องทุเรียนรับซื้อมาจากจังหวัดศรีสะเกษ กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเส้นทางของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิ.ย. 2566 รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น
สำหรับในกรณีทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง และได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ ซึ่งภายหลังจากที่เป็นข่าว ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น
“ทั้งผู้รับจ้างขนส่งและผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ยอมรับความผิดทั้งหมด ทั้งตัวเจ้าของเองยังไปลงบันทึกประจำวันที่ตำรวจด้วยว่ามีการกระทำความผิดจริง แต่ติดใจว่า ของกลางนั้น กรมฯจะต้องนำไปดำเนินการตามกฎหมาย เจตนาเขาอยากขอซื้อคืนทั้งหมด แต่โดยกฎหมายกรมฯเรามีบทเรียนจากเรื่องปลา เราจึงดำเนินการตามระเบียบกรมศุลฯในการจัดการของกลาง โดยให้ส่วนราชการแจ้งความประสงค์และขายปันส่วนให้ส่วนราชการต่อไป โดยก่อนดำเนินการ เราได้ประสานหน่วยงานตรวจสอบโรคพืชติดมาหรือไม่ ถ้ามี เราต้องทำลายทิ้ง ถ้าไม่มี ตามกฎหมายศุลกากรเมื่อเป็นของกลาง ถ้าของยังไม่เสีย แล้วเราทำลายทิ้ง เราจะโดนหน่วยงานตรวจสอบว่า ทำให้ราชการเสียหาย จึงทำตามระเบียบ คือ ขายปันส่วนให้กับส่วนราชการภายในหรือภายนอก”
เขากล่าวด้วยว่า ในเรื่องคดีความนั้น การระงับคดีที่เรียนว่า จะระงับคดีในชั้นศุลกากรนั้น ในวันนี้ เพื่อความสบายใจ เราจะไม่ระงับคดีในชั้นศุลกากร เราจะส่งคดีให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อ เพื่อให้สร้างมั่นใจได้ว่า กรมฯและเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎระเบียบ ในส่วนที่มีการนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ ก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งขอวิงวอนไปยังผู้กระทำผิดในลักษณะนี้ ตอนนี้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และยังมาทำส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและสินค้าส่งออกด้วย ฉะนั้น ขอให้เลิกทำ
“เรื่องสินค้าเกษตรและเรื่องของยาเสพติดนั้น เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมีทีมเฉพาะกิจ ทีมในพื้นที่ เฝ้าระวังสินค้าเกษตรทุกชนิด เพราะสินค้าเกษตรมีผลกระทบในวงกว้าง ฉะนั้น ขอให้หยุด ส่วนเรื่องคดีความ เราจะไม่ยอมระงับคดี จะได้เห็นชัดว่า อะไรเป็นอะไร รวมถึง กรณีการมากล่าวอ้างในสื่อออนไลน์สร้างความเสื่อมเสียกับกรมฯ ครั้งนี้ ผมก็ต้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง อยากให้เป็นอุทาหรณ์”