เรียนรู้ทฤษฎีลงทุน ‘จอร์จ โซรอส’ ผ่านบาดแผล ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’

เรียนรู้ทฤษฎีลงทุน ‘จอร์จ โซรอส’  ผ่านบาดแผล ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’

ต้นเดือนก.ค.แบบนี้ นอกจากจะเตือนว่าเรากำลังเข้าสู่ฤดูฝนกันแล้ว ยังมีเหตุการณ์ให้นักลงทุนหน้าเก่าต้องย้อนนึกถึงบทแผลในวันวาน กับเหตุการณ์ที่ประเทศไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท และชื่อของ “จอร์จ โซรอส” ย่อมเป็นหนึ่งในชื่อที่ปรากฏขึ้นในใจของใครหลายคนอย่างช่วงนี้ 

วันนี้ "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์"  CEO Jitta Wealth ขอพูดถึง "การลงทุนสายดาร์ก" การลงทุนที่เขย่าโลกการเงินของเขา และทฤษฎีการลงทุนที่เราสามารถเรียนรู้ได้ผ่านบาดแผลในอดีต "กับการโจมตีค่าเงินบาท ที่ทำให้ไทยเกือบล่มสลาย"

จริงๆ แล้วเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนของชายที่ชื่อว่า จอร์จ โซรอส มีมากมายหลากหลายเรื่องครับ  แต่ละเรื่องได้แสดงให้เห็นถึงความฉลาด สมกับฉายา "พ่อมดแห่งโลกการเงิน"

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ก่อนอื่นผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ "พ่อมดแห่งโลกการเงิน"  ที่มีนามว่า จอร์ส โซรอส กันก่อนดีกว่าว่าเขาเป็นใคร และทำไม เขาถึงได้เป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มั่งคั่งมากที่สุดในโลก 

โซรอส เกิดที่เมือง บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ในปี 2473 โดยตัวเขามีเชื้อสายยิว ซึ่งเวลาที่โซรอสเกิด คือก่อนที่กองทัพนาซีจะบุกยึดฮังการีนาน 14 ปี ปัจจุบันโซรอสมีอายุ 93 ปีแล้ว

สำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ คือ โซรอส และ Warren Buffett เกิดเดือนเดียวกัน และปีเดียวกันด้วย ซึ่งอายุของทั้ง 2 นี้ห่างกันประมาณ 18 วัน

กลับมาที่โซรอสอีกครั้ง ในช่วงเวลานั้น คนที่มีเชื้อสายยิวใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก และระแวงหน้าระแวงหลังอยู่ตลอดเวลาครับ เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้หรือวันมะรืนจะได้เห็นแสงเดือน แสงตะวันอีกหรือเปล่า 

ครอบครัวโซรอสมีกฎสำคัญในการใช้ชีวิตที่ต้องท่องจำเอาไว้ให้ขึ้นใจอยู่เสมอ นั่นคือ ‘อย่าถูกจับ และเอาชีวิตรอดให้ได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม’

โซรอสจำเป็นต้องซ่อนความเป็นยิวของตัวเองเอาไว้ไม่ให้ใครได้รู้ เขาย้ายสัญชาติไปเป็นคนอังกฤษในปี 2490 ก่อนจะเรียนจบ London School of Economics ในปี 2495

เมื่อโซรอสเริ่มมีวิชาความรู้ ก็เริ่มเล็งเห็นโอกาสทำกำไรในโลกการลงทุน โซรอสจึงได้ย้ายมาที่สหรัฐฯ และได้ก่อตั้งกองทุนชื่อ Quantum Fund ขึ้นในปี 2512

กองทุน Quantum Fund ทำกำไรให้กับโซรอสมหาศาล แต่โซรอสกลับตัดสินใจปิดกองทุนลงในปี 2554 เพราะไม่อยากนำกองทุนไปลงทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ

บางข้อมูลกล่าวว่ากองทุน Quantum Fund ทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยได้สูงถึง 32% ต่อปีตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันปิดตัวกองทุนครับ เรียกได้ว่าเป็นผลตอบแทนระดับตำนานที่สูงมากจริงๆ

โซรอส เป็นนักลงทุนอีกคนที่มักถูกนำชื่อมาเปรียบเทียบกับ วอร์เรน บัฟเฟต อยู่เสมอ โดยมักจะใช้การเปรียบเปรยให้บัฟเฟตต์เป็นสายขาว ส่วนโซรอสนั้นเป็นสายดำ

แต่เหตุผลเพราะว่าอะไร โซรอสไปทำวีรกรรมอะไรเอาไว้จนถูกขนานนามว่าเป็นนักลงทุนสายดำ ตามผมมาได้เลย

โซรอส เป็นนักลงทุนที่สามารถทำกำไรได้ทั้งในช่วงตลาดขาลง และ ตลาดขาขึ้น เขาเชี่ยวชาญการลงทุนแทบทุกรูปแบบ และเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มั่งคั่งมากที่สุดในโลก

โซรอส สามารถทำกำไรได้ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลง แต่ดูเหมือนว่าวีรกรรมที่โด่งดังของโซรอสส่วนใหญ่ จะมาจากการลงทุนช่วงขาลงเป็นหลักครับ 

กลยุทธ์การลงทุนที่โซรอสโปรดปราน คือ การ Short Sell หรือ การขายชอร์ต ซึ่งเป็นเหมือนการยืมหุ้นมาขายก่อน ยิ่งราคาหุ้นตกลงไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งทำกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น 

หรือสรุปว่าเป็นการลงทุนในช่วงตลาดขาลงนั่นเอง และการลงทุนแบบ Short Sell ก็ทำเงินให้ โซรอส ได้มหาศาลครับ

ต้องบอกก่อนว่าการ Short Sell นั้นมักจะสร้างผลกระทบต่อบริษัทที่ลงทุนด้วย ไม่เว้นแม้แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่สามารถถูกขายชอร์ตได้ด้วยเช่นเดียวกันครับ แต่จะเป็นยังไงนั้นเดี๋ยวไปเรามาว่ากันอีกที

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเกลียดชังและหวาดกลัว เมื่อพูดถึงชื่อของ จอร์จ โซรอส ขึ้นมาครับ โซรอส ไม่ใช่นักลงทุนในดวงใจใครหลายคนสักเท่าไร

วีรกรรมหลักที่ทำให้ชื่อ จอร์จ โซรอส ดังกระฉ่อนโลก คือการทำกำไรจากตลาดซื้อขายเงินปอนด์ของสหราชอาณาจักรในปี 2535 จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่มีชื่อว่า ‘Black Wednesday’ หรือ ‘วันพุธทมิฬ’ 

ในตอนนั้นหลายประเทศในยุโรปมีแผนจะรวมสกุลเงินเข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งระบบที่มีชื่อว่า Exchange Rate Mechanism หรือ ERM ขึ้นมาเพื่อเตรียมความพร้อม และจะช่วยให้สกุลเงินของแต่ละประเทศไม่ผันผวนจนเกินไป

แต่แน่นอนการจะห้ามไม่ให้สกุลเงินมีความผันผวน ย่อมมีปัญหาตามมา เพราะประเทศต่างๆ มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน บางประเทศอาจกำลังเจอกับเงินเฟ้อ บางประเทศอาจกำลังเจอกับเงินฝืด

ทำให้เมื่อมีประเทศใดก็ตามที่อยู่ในระบบ ERM ปรับขึ้นดอกเบี้ย ประเทศอื่นก็ต้องขึ้นตามด้วย และนั่นคือช่องโหว่ที่ โซรอส มองเห็นครับ 

ในช่วงนั้นอังกฤษมีอัตราการว่างงานสูง ถ้าหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ควรปรับลดดอกเบี้ยลง แต่เนื่องจากอังกฤษอยู่ในระบบ ERM จึงไม่สามารถทำแบบนั้นได้ง่าย

โซรอส เห็นแบบนั้นจึงรู้ทันทีว่า ยังไงรัฐบาลอังกฤษก็ไม่สามารถตรึงค่าเงินปอนด์ในช่วงเวลานั้นได้อย่างแน่นอน 

เขาจึงโจมตีค่าเงินปอนด์ ด้วยการขายชอร์ตค่าเงินปอนด์อังกฤษอย่างหนักในช่วงเวลานั้น เพื่อหวังจะทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมา เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

และก็เป็นไปตามที่โซรอสคาดการณ์ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ก็ต้องยอมลดค่าเงินปอนด์ลงมา ทำให้โซรอสได้กำไรจากการขายชอร์ตในครั้งนี้ไปแบบจัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียว

แต่แน่นอนว่าการโจมตีค่าเงินของโซรอสย่อมสร้างความผันผวนให้ตลาดหุ้น หรือเศรษฐกิจโดยรวมของอังกฤษด้วยเช่นเดียวกันครับ

ผู้คนเลยเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า Black Wednesday ซึ่งเป็นวิกฤติที่ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอังกฤษในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจไปเลย 

และโซรอส คือ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ สมกับฉายา พ่อมดแห่งโลกการเงิน หรือยังครับ จริงๆ แล้วหลังเหตุการณ์นี้โซรอสได้ฉายาอีกหนึ่งอันด้วย นั่นคือฉายา ชายผู้ทำลายธนาคารแห่งอังกฤษ

โซรอสมีฉายามากมาย ซึ่งคิดว่าฉายาต่างๆ ตัวโซรอสน่าจะไม่ได้สนใจสักเท่าไร เพราะสิ่งที่โซรอสสนจริงๆ คือ กำไรหรือผลตอบแทนที่เขาได้รับจากการลงทุนในครั้งนี้ ที่บางข้อมูลได้บอกว่าโซรอสทำกำไรจากการขายชอร์ตเงินปอนด์ได้สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลย 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่โซรอสได้ทำนั้นสร้างผลกระทบที่รุนแรงให้กับเศรษฐกิจของอังกฤษและผู้คนจำนวนมาก  เพราะหากธนาคารต่างๆ ในอังกฤษไม่สามารถปรับตัว หรือรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ อาจเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจเลยก็ได้ ยังโชคดีที่เหตุการณ์นี้ช่วยปรับระบบเศรษฐกิจของอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น 

และหากดูจากแนวโน้มตลาดหุ้นของอังกฤษ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ กลายเป็นว่าหลังจากนั้นตลาดหุ้นอังกฤษปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเลยด้วย

แล้วก็มาถึงช่วงที่หลายคนรอคอย หลังจากเหตุการณ์ถล่มธนาคารอังกฤษไป เป้าหมายต่อไปที่ โซรอส มองเห็นโอกาสลงทุนใน เงินบาท ของประเทศไทยนั่นเอง 

ซึ่งการเข้ามาลงทุนของโซรอสในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดวิกฤตที่หลายคนคุ้นหูกัน นั่นคือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ จนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของวิกฤติต้มยำกุ้งที่ตามหลอกหลอนใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ประเทศไทยได้กลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของเศรษฐกิจโลก 

มีบริษัทต่างชาติมาลงทุนมากมาย เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทย จนในช่วงเวลานั้นไทยถูกเรียกว่าเป็น ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจแห่งเอเชีย

แต่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า ช่วงเวลานั้นไทยมีช่องโหว่ใหญ่ๆ ซ่อนอยู่ เพราะไทยได้ละเลยต่อหลักการ Impossible Trinity หรือ สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้

สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้เป็นทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน ที่บ่งบอกถึงนโยบายที่ไม่สามารถทำพร้อมกันได้ 3 อย่าง ประกอบไปด้วย

1. การเปิดเสรีทางการเงิน ให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า-ออกได้อย่างเสรี

2. การใช้ดอกเบี้ยนโยบายอย่างอิสระ เพื่อควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ

3. การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงเวลานั้น ไทยใช้นโยบาย 3 อย่างนี้พร้อมกัน จนนักลงทุนต่างชาติเริ่มเห็นถึงช่องโหว่นี้ของไทยและเริ่มถอนทุนออกจากไทยไปบ้างแล้ว และอย่าลืมว่าในช่วงเวลานั้นไทยยังคงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ทำให้แบงก์ชาติต้องคอยนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปแลกเป็นเงินบาท เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปมากกว่า 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อมีช่องโหว่ใหญ่ๆ นี้เกิดขึ้น ก็ไม่มีทางจะหลุดพ้นจากสายตาอันเฉียบแหลมพ่อมดแห่งการเงินอย่าง โซรอส ไปได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการโจมตีค่าเงินบาทนั่นเอง

การโจมตีค่าเงินบาทของโซรอสค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินทำความเข้าใจ "ตราวุทธิ์" ขออธิบายวิธีการโจมตีค่าเงินบาทของโซรอสแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1. โซรอสเปิดสถานะขายชอร์ตเงินบาทที่ 26 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเขามั่นใจว่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่ามากกว่านี้แน่นอน

2. แบงก์ชาติพยายามสู้กลับ โดยพยายามพยุงค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้ จึงจำเป็นต้องหาเงินดอลลาร์มาเข้าคลังจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อเงินบาทกลับคืน

3. การขายชอร์ตไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น ยังมีกองทุนเฮดจ์ฟันด์อื่นๆ มาผสมโรงร่วมโจมตีค่าเงินบาทในครั้งนี้ด้วย ทำให้แบงก์ชาติเริ่มมีเงินดอลลาร์ในคลังสำรองไม่เพียงพอ

4. แบงก์ชาติต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแบบลอยตัวและอ่อนค่าในที่สุด ชัยชนะกลายเป็นของโซรอส โดยในช่วงเวลานั้นค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไปแตะที่ 56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

หากสรุปง่ายๆ จะพบว่า โซรอสสามารถทำกำไรได้เกิน 100% จากการโจมตีค่าเงินบาทด้วยการขายชอร์ตในครั้งนี้ จนทำให้ไทยต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

และมันได้กลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อไทยและอีกหลายประเทศในแถบเอเชียที่ยากจะลืมเลือน 

แต่การเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่ถูกโซรอสโจมตีเท่านั้น เพราะมันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้ แต่ในครั้งนี้จะขอเน้นไปที่ตัวโซรอสก่อน

จากเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลให้ IMF ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาหารือกับทางการไทย เพื่อป้องกันการล่มสลายทางเศรษฐกิจ และทำให้ไทยได้รับบทเรียนราคาแพงที่ถูกหยิบยกมาเล่าจนถึงทุกวันนี้ครับ

การลงทุนของโซรอส ดูเหมือนจะเป็นบทเรียนการลงทุนที่เรียนรู้ได้ยาก แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า โซรอส เองก็มีทฤษฎีที่ใช้ในการลงทุนอยู่เหมือนกัน 

โดยที่ตัวโซรอสเองเรียกทฤษฎีนี้ว่า Reflexivity หรือ การสะท้อนกลับ โดยเนื้อหามีดังนี้

อคติของคนหมู่มากจะกระทบต่อราคาหุ้น และส่งผลกระทบไปยังพื้นฐานของหุ้นต่อด้วย

โซรอส เชื่อว่า เมื่อราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้น ผู้คนจะรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้น ผู้คนจะใช้จ่ายมากขึ้น บริษัทจึงมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น

ตลาดจึงสรุปว่า “พื้นฐานบริษัทดีขึ้น” ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นต่อไป เมื่อวงจรนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ หุ้นก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

โซรอส ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากในตลาด และเมื่อทิศทางของผู้คนเป็นไปในทิศทางที่ตรงกับทฤษฎี Reflexivity ของเขา จะทำให้เขาสามารถทำกำไรจากการลงทุนได้อย่างง่ายดาย

แต่ที่ร้ายกาจคือ ทฤษฎีนี้ไม่ได้ใช้ได้เพียงแค่ในช่วงตลาดขาขึ้นทั่วไปเท่านั้น มันกลับใช้ได้ดีมากในการหาสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น หรือปัจจัยที่อาจส่งผลให้ตลาดร่วงอย่างรุนแรง 

โซรอส ซุ่มรอตระครุบเหยื่อเหมือนเสือเจนป่า ที่รอคอยจังหวะที่เหมาะสมและดีที่สุดในการลงทุนอยู่เสมอ 

ตัวเขามองเห็นช่องโหว่ใหญ่ๆ จากทฤษฎี Impossible Trinity เขาจึงได้โจมตีเงินบาทด้วยการขายชอร์ตอย่างหนักหน่วง จนเร่งให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปในจุดที่ควรจะเป็น

"เขารู้ว่านโยบายทางการเงินของไทยผิดปกติ และสุดท้ายค่าเงินบาทยังไงก็ต้องอ่อนค่าลง สิ่งที่เขาทำก็แค่เร่งให้เหตุการณ์ผิดปกติมันเกิดขึ้นไวขึ้นเท่านั้น" 

โซรอส มองเห็นโอกาสทำกำไรในปัญหาที่หลายคนหลีกเลี่ยงจะพูดถึงหรือทำเป็นมองไม่เห็น ทั้งเหตุการณ์ วิกฤตต้มยำกุ้ง และ Black Wednesday ที่เกิดจากปัญหาที่มีอยู่แล้วของทั้งไทยและอังกฤษ

และแน่นอนครับว่า โซรอส ใช้โอกาสลงทุนอย่างคุ้มค่า และสร้างกำไรมหาศาล จนทำให้เขากลายเป็นนักลงทุนในตำนานของโลกนี้อีกคนอย่างปฏิเสธไม่ได้  นี่คือสิ่งที่คุณควรเรียนรู้จากเขา เมื่อมีโอกาสจงใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด

ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักลงทุนในตำนานของโลก แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่มีคนเกลียดมากที่สุดอีกคนนึงในโลกนี้เช่นกัน สมชื่อเซียนหุ้นสายดาร์ก

ถ้าถามว่าทำไม โซรอส ถึงมีความถนัดและเริ่มลงทุนสายดำมากกว่าการลงทุนปกติ ผมคาดการณ์ว่ามันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พ่อของเขาสอนเอาไว้ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งตัว โซรอส เคยพูดเอาว่า 

‘กฎที่สำคัญเพียงข้อเดียวคือ ต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ และการเอาชีวิตรอดในวัยเด็กของผม ต้องทำในสิ่งที่ผิดกฎอยู่หลายครั้ง '

"ตราวุทธิ์" กล่าวว่า ผมได้เรียนรู้ว่าการปฏิบัติตัวตามกฎ ไม่สามารถใช้ได้ในช่วงที่คุณต้องเอาตัวรอด เช่นเดียวกับในช่วงวิกฤต  และประสบการณ์นี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการลงทุนของผมอย่างชัดเจน

สำหรับประเทศไทยและคนไทยที่ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมา บทเรียนที่ได้จากโซรอสในครั้งนั้น ได้สอนให้เราทุกคนรู้ว่า 

‘ถ้ามีปัญหาควรรีบแก้ไขและควรอยู่กับสิ่งที่มันเป็นไปได้ ไม่เช่นนั้นมันอาจกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่แก้ไขได้ยากในอนาคต’