บัญชีกลางตั้งทีมเร่งเบิกจ่ายงบ 66 หลังรายจ่ายลงทุนต่ำเป้า
บัญชีกลาง เร่งเบิกจ่ายงบปี 66 หลังรายจ่ายลงทุนต่ำเป้า เผย 3 ไตรมาสเบิกงบลงทุน 50 % จากเป้าหมาย 57%ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตาม คาดทั้งปีทำได้ใกล้เป้าหมาย 93% ร่อนหนังสือถึงหน่วยงานราชการเร่งกันงบเหลื่อมปี ยืดเวลาการเบิกจ่าย ก่อนโครงการถูกพับ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณปีงบ 66 ว่าในภาพรวมการเบิกจ่าย 3 ไตรมาสของงบประมาณในปี 66 นั้น ยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย โดยเบิกจ่ายได้ 2.265 ล้านล้านบาท คิดเป็น 72% ของเป้าหมาย จากที่ตั้งไว้ 75% ส่วนสำคัญมาจากงบลงทุนที่ยังต่ำเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายได้ราว 50% ขณะที่ เป้าหมายตั้งไว้ที่ 57% ส่วนการเบิกจ่ายรายประจำ ก็ทำได้ 77% ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี กรมฯเชื่อว่า ยอดการเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณ 66 จะสามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งกรมฯได้เร่งรัดให้ทุกส่วนราชการเบิกจ่าย โดยมีคณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่ายเฉพาะกิจจากคลังจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประสานการทำงานเร่งรัดเบิกจ่ายทุกส่วนราชการ
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 66 นั้น กรมฯมีเป้าหมายว่าจะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 98% และรายจ่ายลงทุน 75%
“ปีที่แล้วเราสามารถเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย ส่วนปีงบ 66 นี้ เราก็อยากให้เป็นไปตามเป้าหมายเช่นเดียวกัน โดยได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามแผน ซึ่งมีคณะทำงานเร่งรัดการเบิกจ่ายเฉพาะกิจ ให้ติดต่อเร่งรัดการเบิกจ่ายรายหน่วยงานราชการ เพื่อรับทราบข้อปัญหาต่างๆ ในการดำเนินการ จากนั้นกรมบัญชีกลางจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น”น.ส.กุลยากล่าว
ส่วนขณะนี้อยู่ในช่วงการแต่งตั้งรัฐบาล มีผลทำให้เกิดสุญญากาศในการเบิกจ่ายงบประมาณหรือไม่น.ส.กุลยา กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่ขณะนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย.66 ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการแต่งตั้งรัฐบาล แต่เรื่องการเบิกจ่ายจะมีผลในปีงบ 67 เพราะหากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี67 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็จะสามารถเบิกจ่ายได้เพียงงบประจำ แต่งบลงทุนใหม่ๆ นั้น จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรมบัญชีกลางซึ่งมีหน้าที่ในการเร่งรัดการเบิกจ่าย กรมฯก็มีการเร่งรัดการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเม็ดเงินของปีงบ 66 จะได้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด เนื่องจากหากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 67 มีผลบังคับใช้ กรมฯก็จะต้องไปเร่งรัดการเบิกจ่ายอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน ส่วนแนวคิดการใช้รูปแบบงบประมาณฐานศูนย์นั้น เป็นเรื่องที่สำนักงบประมาณเป็นผู้ดูแล โดยกรมบัญชีกลางมีหน้าที่เบิกจ่ายตามรายจ่ายที่กำหนดไว้ให้แต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้มีการออกหนังสือหลักเกณฑ์การดำเนินการกันงบเหลื่อมปี เพื่อขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ เพราะหากยังไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ 66 โครงการต่างๆ ก็จะถูกพับไป กรมบัญชีกลางจึงมีหน้าที่เร่งกำชับให้หน่วยงานเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในงบปี 66 โดยขณะนี้ยังมีหลายโครงการที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุน ซึ่งอีก 1 ไตรมาสที่เหลืออยู่ ทุกอย่างจะต้องดำเนินให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีงบ 66
“งบลงทุนที่ต้องการให้เกิดคืออยากให้มีการเบิกจ่ายเลย ส่วนการกันเหลื่อมปีก็เป็นการผูกพันว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในอนาคต แต่ไม่ได้การันตีว่าเม็ดเงินจะลงปีนี้ อย่างไรก็ดี การกันงบเหลื่อมปีก็ยังช่วยให้โครงการต่างๆ ไม่ถูกพับไป โดยหากจบไตรมาสที่ 3 ทุกอย่างจะต้องผูกพันกันเหลื่อมปีได้ประมาณ 82% ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 76% แล้ว ซึ่งยังต้องมีการเร่งกันเหลื่อมปีเพิ่มขึ้น”
ขณะที่ การอุทธรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายล่าช้านั้น ขณะนี้กรมฯก็มีการเร่งรัดการดำเนินการพิจารณาผลอุทธรณ์ให้รวดเร็ว โดยได้ให้คลังจังหวัดเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ทำให้ขั้นตอนการพิจารณารวดเร็วขึ้นจาก 2 เดือน เหลือระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนการอุทธรณ์ไม่ใช่เหตุ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินงานนั้น กรมฯได้เสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ซึ่งจะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา โดยกรมมีการแก้กฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการอุทธรณ์ไม่สมเหตุสมผล และการขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม