อัปเดต! ขั้นตอนการทำ "ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" สำหรับกิจการขนาดเล็ก
อัปเดต! ขั้นตอนการทำ "ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" สำหรับกิจการขนาดเล็ก ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการดำเนินการจัดทำ การส่ง หรือการเก็บรักษาใบกำกับภาษี ไว้หลายประเด็น ผู้ประกอบการควรศึกษาให้ดี เพื่อไม่มีปัญหาภายหลัง
เมื่อผู้ประกอบธุรกิจรายใดเข้าเกณฑ์รายได้ถึง 1.8 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และหลังจด VAT ต้องจัดทำ รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย รวมถึงทำแบบ ภ.พ.30 พร้อมเอกสารใบกำกับภาษี เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรทุกเดือน แม้ว่าเดือนนั้นๆ จะไม่มีรายได้หรือรายจ่ายเลยก็ตาม ก็ต้องนำส่งแบบ ภ.พ.30 เปล่าแก่กรมสรรพากร
โดยปัจจุบันการจัดทำใบกำกับภาษี และการจัดเก็บ รวมถึงส่งมอบไฟล์ข้อมูลให้กับผู้ซื้อ สำหรับกิจการขนาดเล็กมีความสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อเข้าระบบ e-Tax Invoice by Email ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการดำเนินการจัดทำ การส่ง หรือการเก็บรักษาใบกำกับภาษี ไว้หลายประเด็น ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบรรทัดต่อจากนี้
- กิจการใดที่ควรใช้ระบบ e-Tax Invoice by Email
เนื่องจาก e-Tax Invoice by Email เป็นระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูล"ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์"และ"ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอีเมล" ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และออกใบกํากับภาษีจำนวนไม่มาก ไม่มีการบริหารจัดการด้านเอกสารที่เป็นระบบขนาดใหญ่ รวมถึงอาจยังไม่พร้อมที่จะออกใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์แบบสมบูรณ์ตามที่กรมสรรพากรกำหนดผ่านระบบกลางของ สพธอ.ได้
ในส่วนของขั้นตอนการจัดทำจะไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอีเมลได้ โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) และระบบจะส่งไฟล์ข้อมูลให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า เพื่อจัดเก็บหรือใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมต่อไป
ทั้งนี้ การประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับรับรองความมีอยู่ของข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ณ ขณะที่มีการรับรอง และสามารถใช้ในการระบุเวลาที่เอกสารถูกสร้างขึ้นหรือปรับปรุงล่าสุด เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในช่วงเวลาที่ระบุไว้ในการรับรองเวลานั้นๆ
- เงื่อนไขการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice by Email)
กรมสรรพากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการดำเนินการจัดทำ การส่ง หรือการเก็บรักษาใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1.) ผู้มีสิทธิยื่นคำขอจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(6) แห่งประมวลรัษฎากร
2.) ขั้นตอนการจัดทำใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์
2.1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร
2.2 อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษี
2.3 ผู้ประกอบการจะทะเบียนออกใบกำกับภาษีได้ เมื่อแจ้งที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร
3.) เอกสารที่ต้องจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
3.1 ใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
3.2 ใบเพิ่มหนี้ ตามมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
3.3 ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
4.) การนำส่งข้อมูลให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งข้อมูลใบกำกับภาษี (เต็มรูป) ทางที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้แจ้งต่อกรมสรรพากร ไปยังที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของระบบประทับรับรองเวลา (Time Stamp)
5.) การแก้ไขรายการในใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ให้ใช้วิธีลบทิ้ง หรือล้างรายการออก หากจะแก้ไขต้องบันทึกรายการปรับปรุงเพิ่มเข้าไปเพื่อแสดงให้เห็นรายการก่อนปรับปรุงและหลังปรับปรุง และต้องมีรายงานการแก้ไขรายการ เพื่อให้ตรวจสอบได้
6.) กรณีข้อความในใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเห็นเอง หรือเมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม ซึ่งได้จัดทำและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดำเนินการดังนี้
6.1 กำหนดเลขที่ใบกำกับภาษีฉบับใหม่เป็นเลขที่ใหม่ และระบุ วัน เดือน ปี ที่ได้จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่
6.2 จัดทำข้อความที่แสดงว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่... ลงวันที่... หรือข้อความอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องได้โดยไม่จำต้องเรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิม
7.) กรณีใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์เกิดความเสียหายหรือสูญหาย กรณีนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จำต้องออกใบแทนใบกำกับภาษี แต่สามารถส่งใบกำกับภาษีฉบับเดียวกันที่ได้รับจากการประทับรับรองเวลาให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการได้
8.) การเก็บรักษาข้อมูล
8.1 ให้ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการรักษาความถูกต้องของข้อความตั้งแต่การสร้างข้อความเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นในภายหลังได้
8.2 ให้เก็บข้อมูลใบกำกับภาษี โดยสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้ โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง
8.3 ให้เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในขณะที่ได้สร้าง ส่ง หรือได้รับข้อมูลใบกำกับภาษีนั้น หรืออยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงข้อความที่สร้าง ส่ง หรือได้รับให้ปรากฏอย่างถูกต้องได้
8.4 ให้เก็บรักษาข้อความส่วนที่ระบุถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง และปลายทางของใบกำกับภาษี ตลอดจนวันและเวลาที่ส่งหรือได้รับข้อความดังกล่าว
9.) ข้อความที่ต้องระบุไว้ในชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
9.1 ในใบกำกับภาษี ให้ระบุ “[วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี] [INV] [เลขที่ใบกำกับภาษี]”
9.2 ในใบเพิ่มหนี้ ให้ระบุ “[วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้] [DBN] [เลขที่ใบเพิ่มหนี้] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]”
9.3 ในใบลดหนี้ ให้ระบุ “[วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้] [CRN] [เลขที่ใบลดหนี้] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]”
9.4 การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ระบุ “[วัน เดืนอ ปี ที่ออกใบกำกับภาษีใหม่] [INV] [เลขที่ใบกำกับภาษีใหม่] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]”
10.) ระยะเวลาบังคับใช้ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รายละเอียดเพิ่มจาก : เว็บไซต์กรมสรรพากร
สรุป…
ดังนั้น หากกิจการขนาดเล็กใดที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว สามารถสมัครเข้าระบบ e-Tax Invoice by Email ได้โดยการเข้าไปที่เว็บไซต์เพื่อยื่นคำขอกรมสรรพากร www.rd.go.th กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและตรวจสอบข้อมูล พิมพ์เอกสาร ก.อ.01 เพื่อลงนาม สแกน ก.อ.01 และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่ออัปโหลดเอกสาร
จากนั้นกรมสรรพากรจะตรวจสอบความถูกต้อง และจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์ โดยให้กิจการยืนยันตัวตน พร้อมแจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้ในการส่งใบกำกับภาษีและใบรับ ผ่านทางเว็บไซต์ หลังจากนั้นสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับอนุมติ ก.อ.01 ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting