'บุคคลธรรมดา' ทำ 'รับเหมาก่อสร้าง' ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
เมื่อ "บุคคลธรรมดา" มาทำธุรกิจ "รับเหมาก่อสร้าง" จำเป็นต้องทำความเข้าใจ "ภาษี" ที่ต้องเสียด้วย ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูก "ตรวจสอบย้อนหลัง" ทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แผนงานของแต่ละกิจการที่วางไว้ก็เริ่มทยอยเดินหน้าต่อ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็เริ่มผุดโครงการบ้านจัดสรร งานก่อสร้างถนน สร้างโรงงาน สร้างอาคาร ตึก ให้เราเห็นกันอยู่แทบทุกพื้นที่
แน่นอนว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการในนาม "บุคคลธรรมดา" ก็ตาม
ที่สำคัญงานรับเหมาก่อสร้างที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีโอกาสเสียภาษีสูงกว่านิติบุคคล เนื่องจากมีรายรับที่สูง ภาษีก็จะสูงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในเรื่องของรายได้ที่เข้า โอกาสยื่นภาษีผิดพลาดสูง และส่งผลให้เกิดปัญหาโดนภาษีย้อนหลังได้โดยง่าย
ดังนั้น เมื่อบุคคลธรรมดารับงานก่อสร้างมา จำเป็นต้องทำความข้าใจภาษีที่เจ้าตัวต้องเสียด้วย ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น และยังช่วยประหยัดภาษีได้อีกด้วย
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก เนื่องจากรายได้ที่เข้ามามีความซับซ้อนในเรื่องเงินได้พึงประเมิน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.เหมาค่าแรงและค่าสินค้า ถือเป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7)
2.เหมาเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว ถือเป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)
ทั้งนี้ รายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างสำหรับบุคคลธรรมดา จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอธิบายตามมาตราที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 มาตรา 40(7) เป็นการรับเหมาโดยรับเหมาทั้งค่าแรงงานและค่าสินค้า ที่ทำในเชิงธุรกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ หักในอัตราเหมา 60% ของรายได้ หรือหักค่าใช้จ่ายได้ตามตามจริง
และในกรณีเงินได้จากการรับเหมาก่อสร้างนี้ หากมีคู่สมรสที่ร่วมกันประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งรายได้ออกเป็นของแต่ละฝ่ายคนละกึ่งหนึ่ง และมีสิทธิ์เลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา 60% ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินที่พิสูจน์ผู้รับได้ จัดทำบัญชีเงินสดรับ-จ่าย ไว้ให้ชัดเจนและเก็บเอกสารไว้ให้ครบทุกใบ
- เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 40(8) เป็นรายได้จากอย่างอื่นที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1–7 ซึ่งเป็นการรับเหมาเฉพาะค่าแรงอย่างเดียว สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยช่วงเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่น 2 รอบ ดังนี้
- ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) เงินได้ตามมาตรา 40(5) - (8) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
- ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) เงินได้ตามมาตรา 40(1) - (8) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
เนื่องจากงานรับเหมาก่อสร้างมีมูลค่ารายได้ค่อนข้างสูง ดังนั้น เจ้าของกิจการที่รับงานเหมาก่อสร้างมา หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อมี ก็มีหน้าที่ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน โดแบ่งเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
- ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปีภาษี หรือวันที่มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท มีหน้าที่ขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี จากนั้นนำยอดขายในแต่ละเดือนภาษีมายื่นรายการตามแบบ ภ.พ.30
- ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ให้นำยอดขายในแต่ละเดือนภาษีมายื่นรายการตามแบบ ภ.พ.30 โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) เป็นรายเดือนภายในวันนี้ 15 ของเดือนถัดไป ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
- ภาษีอากรแสตมป์
ตามหลักการเมื่อมีการว่าจ้างรับเหมาก่อสร้าง ควรมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร และหากมีการจัดทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้าง กฎหมายกำหนดให้ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์เงินในอัตรา 1 บาทต่อทุกจำนวนค่าจ้าง 1,000 บาท และเศษของ 1,000 บาท และขีดฆ่าอากรแสตมป์เพื่อไม่ให้ใช้แสตมป์ได้อีก
โดยวิธีการเสียภาษีอากรแสตมป์ ทำได้ 3 วิธี
1.แสตมป์ปิดทับ ปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสาร
2.แสตมป์ดุน ใช้กระดาษมีแสตมป์ หรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงิน
3.ชำระเป็นตัวเงิน ใช้แบบของและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย และให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
สรุป... วางแผนภาษีรับเหมาก่อสร้าง
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างดังที่กล่าวมานี้ กิจการควรวางแผนภาษีเพื่อให้ประหยัดภาษีลงแบบถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หากคำนวณดูแล้วมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งวิธีนี้จะต้องมีการจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย และเก็บเอกสารประกอบการจ่ายค่าใช้จ่ายให้ครบ
อย่างเช่นค่าแรงที่จ่ายให้กับทีมงาน ต้องมีหลักฐานการจ่ายค่าแรง เพื่อนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือค่าเลี้ยงข้าวพนักงาน สามารถขอใบเสร็จเพื่อใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายสิ้นปีได้ โดยจะต้องพยายามรวบรวมเอกสารให้ได้มากที่สุด
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องตั้งราคาบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่เสนองานรับเหมา ส่วนในด้านของการซื้อของ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง วัตถุดิบที่ใช้ในการงาน ต้องขอใบกำกับภาษีซื้อจากผู้ขายทุกครั้งเพื่อใช้หักภาษีขาย หรือหากเป็นใบเสร็จ บิลเงินสดก็สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้
รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ค่าซ่อมแซมรถ ค่าประกันภัยรถยนต์ สามารถขอใบกำกับภาษีซื้อเพื่อใช้หักภาษีขายได้
3.ใช้สิทธิค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น ลดหย่อนบุตร บิดามารดา บริจาค ประกันชีวิต เป็นต้น เพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น
----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting