โอนเงินผ่านระบบออนไลน์ ต้องเข้าใจ “ภาษี e-Payment”

ขายออนไลน์ต้องเข้าใจ “ภาษี e-Payment” โอนเงินผ่านระบบออนไลน์

ทำธุรกรรมออนไลน์ ผู้ทำธุรกรรมอาจเป็นผู้ที่ต้องเสีย “ภาษี e-Payment” ด้วย แล้ว “ภาษี e-Payment” คืออะไร ใครบ้างที่ต้องเสีย และกระบวนการเป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบออนไลน์ มีบทบาทกับผู้คนในยุคนี้เป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจขายของออนไลน์ได้กระจายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย และยังสามารถจ่ายเงินผ่านระบบ E-PAYMENT ได้อย่างสะดวกสบาย

และเมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านระบบ e-Payment ผู้ทำธุรกรรมเหล่านี้อาจเป็นผู้ที่ต้องเสีย “ภาษี e-Payment” ด้วย

ภาษี e-Payment” คืออะไร ใครบ้างที่ต้องเสีย และกระบวนการเป็นอย่างไร ไปทำความรู้จักพร้อมกัน

  • ทำความรู้จัก e-Payment

e-Payment เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินที่เข้าเงื่อนไขให้กับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบการเสียภาษี ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งแยกเป็นรายสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รวมข้อมูลหรือเชื่อมโยงกัน

  • ข้อมูลการฝากและโอนเงินลักษณะใด ถูกส่งให้กรมสรรพากร

หลักเกณฑ์ e-Payment ที่สถาบันการเงินและผู้ให้บริการด้านการเงิน มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรนั้น ข้อมูลจะมาจากยอดเงินเข้าบัญชีของผู้มีรายได้ ทั้งที่เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา และที่จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อมียอดเงินเข้าบัญชีถึงเกณฑ์เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1.มีเงินเข้าบัญชีหรือมีการรับฝากเงินเป็นจำนวน 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร

2.มีเงินเข้าบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเงินที่เข้าบัญชีรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี โดยต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 อย่าง จึงจะถูกส่งข้อมูลธุรกรรมให้กับสรรพากรโดยนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ

รายการฝากและโอนเงินเข้าบัญชีที่นับเป็นเงินเข้าบัญชี ประกอบด้วย

- ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ฝากเงิน

- ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชี ทั้ง Auto Transfer / Online / iBanking

- ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชีจากเครื่องรูดบัตร โดยนับตามจำนวนครั้งที่รูด แม้ธนาคารจะโอนยอดครั้งเดียวหลังสิ้นวัน
- ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี
- ยอดเงินเข้าบัญชีจากดอกเบี้ย
- ยอดเงินเข้าบัญชีจากเงินปันผล

ทั้งนี้ เมื่อยอดเงินเข้าบัญชีถูกส่งให้กับกรสรรพากร ก็จะเป็นข้อมูลที่กรมสรรพากรนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณภาษี หากประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ แล้วพบว่ามีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ผู้มีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี e-Payment นั่นเอง

  • ข้อมูลอะไรบ้างที่สถาบันทางการเงินต้องส่งให้กรมสรรพากร  

ทั้งนี้ หากมีเงินฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีถึงเกณฑ์เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทางกรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลต่างๆ ที่สถาบันส่งให้ดังนี้

1.เลขประจำตัวประชาชน / เลขนิติบุคคล
2.ชื่อ-นามสกุล เจ้าของบัญชี / ชื่อนิติบุคคล
3.จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินต่อปี
4.ยอดรวมของการฝากหรือรับโอนเงินต่อปี
5.เลขที่บัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน

  • เมื่อทำธุรกรรมถึงเกณฑ์ ถูกส่งให้กรมสรรพากรควรทำอย่างไร

หากใครพบว่าตนเองเข้าเงื่อนไขที่ต้องถูกส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร อย่าเพิ่งกังวลใจว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เพราะอย่างไรก็ตามกรมสรรพากรจะต้องนำไปประมวลผลกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น ณ เวลานี้ผู้มีรายได้ที่มีเงินเข้าบัญชีจากการขายสินค้า หรือธุรกิจอื่นๆ จำเป็นต้องวางแผนการรายรับรายจ่ายให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลัง ตัวอย่างเช่น

- ต้องทำบัญชีรายรับให้ชัดเจน จดบันทึกรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงทุกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดเมื่อถึงเวลายื่นภาษี และยังสามารถทำให้ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริงของตนเองด้วย

- ผู้ประกอบการที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย อาจจดเฉพาะรายการที่เป็นเงินสด ส่วนรายการที่เป็นการโอนเงินผ่านระบบ e-Payment สามารถเรียกดูรายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง แล้วจึงนำมาบันทึกยอดเงินรายรับและรายจ่ายในแต่ละวันอีกทีได้

- จัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการรับโอนเงินให้ชัดเจน ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง รวมถึงกิจการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล จะต้องเก็บเอกสารการค้าและธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รวบรวมเอกสารดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงตอนยื่นภาษี จะช่วยทำให้การยื่นภาษีถูกต้องตรงกับข้อมูลที่แท้จริง
 

  • สรุป... ภาษี e-Payment กับผลกระทบของผู้ทำธุรกรรมออนไลน์

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลยอดเงินเข้าบัญชีให้แก่กรมสรรพากร แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าเงื่อนไขจะต้องเสียภาษีทุกคน เพราะบางรายการก็เกิดจากการโอนโดยเงื่อนไขอื่นๆ เช่น โอนเพื่อฝากเงินทำบุญ หรือโอนเพื่อคืนเงินกู้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางกรมสรรพากรไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ และต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น หากผู้มีรายได้ยื่นภาษีถูกต้องก็จะไม่เกิดเป็นภาษี e-Payment ขึ้น หรือกล่าวคือระบบ e-Payment ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจนั่นเอง ที่สำคัญผู้ประกอบธุรกิจควรแยกบัญชีธนาคารที่ใช้ส่วนตัวกับใช้เพื่อธุรกิจเป็นคนละบัญชี และเริ่มต้นยื่นภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่แรก แม้ว่าจะมีธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขต้องถูกส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ก็จะไม่สร้างความสั่นคลอนให้กับธุรกิจของคุณอย่างแน่นอน

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting