ออมสินใช้ ESG Score ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่
ออมสินใช้ ESG Score ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จูงใจด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 20% ประเดิมแล้วกว่า 50 ราย พร้อมตั้งวงเงินไว้สูงกว่า 2 หมื่นล้าน ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่า 50% ในปี 73 ดันเป้าหมายธนาคารเพื่อสังคม
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ในปี 2566 ธนาคารออมสิน ได้เริ่มใช้เกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อิงกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า ESG Score for Lending สำหรับ ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาใส่ใจในการประกอบธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า50 ราย ทั้งนี้ ธนาคารมีวงเงินสำหรับสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนี้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
เขากล่าวว่า ธนาคารออมสิน จะเป็นธนาคารแรกในธุรกิจธนาคารที่มีการนำ ESG Scoring มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่สร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการตั้งคำถามต่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการสินเชื่อจากธนาคารโดยมี 4 หมวดคำถามใหญ่ คือ การดำเนินธุรกิจสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อ สังคม และการดำเนินการของธุรกิจมีระบบธรรมาภิบาลอย่างไร และรวมถึงที่ผ่านมามีข่าวที่ไม่ดีกับองค์กรหรือไม่
ทั้งนี้ คะแนนเต็มจะอยู่ที่ 10 คะแนน หากได้คะแนนต่ำกว่า 2 คะแนน ธนาคารจะสงวนสิทธิ์ ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ แต่หากได้คะแนนตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไป นอกจากธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อแล้ว ธนาคารจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปกติด้วย โดยอาจพิจารณาลดให้ตั้งแต่ 0.10 ถึง 0.20 % อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจที่ได้คะแนนต่ำกว่า 2 คะแนน แม้จะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร แต่ธนาคารก็พร้อมเข้าไปสนับสนุนธุรกิจเหล่านั้น เพื่อช่วยปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อทำให้ ESG Scoring ดีขึ้น
สำหรับธนาคารเองนั้น ได้ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่า 50% ซึ่งเราคาดว่า จะลดให้ได้ประมาณ 62% และในปี 2573 ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 100%
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคม ธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของธนาคารออมสิน โดยแนวทาง คือ ธนาคารจะนำกำไรส่วนหนึ่งที่ได้กำไรจากการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดใหญ่ มาอุดหนุนดอกเบี้ยให้กับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ หรือกลุ่มเปราะบาง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ ลดดอกเบี้ย พักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึง การจ่ายเงินโดยตรงผ่านการดำเนินงาน CSR รวมแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 5.54 หมื่นล้านบาท
“เราต้องการสร้าง Impact ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานของธนาคาร เช่น ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนสินเชื่อ จำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 8-10% เพื่อช่วยให้คนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องการสินเชื่อ โดยใช้มอเตอร์ไซด์เป็นหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นการลดภาระให้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อนี้ไปแล้ว 1.8 ล้านราย”
นอกจากนี้ ในปลายปีนี้ ธนาคารจะจัดตั้งบริษัทลูก ชื่อ บริษัทเงินดีดี ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ให้ลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกันและมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติที่ธุรกิจธนาคารจะให้สินเชื่อได้หรือ P Loan โดยจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าตลาด 3-5% โดยปล่อยสินเชื่อตั้งแต่หลัก 8 พันบาทจนถึง 1 แสนบาทต่อรายและในต้นปีหน้าธนาคารดำเนินการปล่อยสินเชื่อประเภทดังกล่าวผ่าน Digital Lending ด้วย
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีนี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 2.354 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา 5.74 หมื่นล้านบาท ,เงินฝาก 2.682 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1.73 หมื่นล้านบาท โดย NPL อยู่ที่ 2.63 % ของสินเชื่อคงค้าง ธนาคารตั้งเป้าหมายควบคุม NPL ทั้งปีนี้ให้ไม่เกิน 2.95 %
สำหรับ ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน เนื่องจาก เป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล
โดย Environment เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร กับ ลูกจ้าง suppliers ลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไร และ Governance เป็นหลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
ทั้งนี้ แนวคิด ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนพอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ 80% มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG