ปักธง 'อาเซียน' หมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจ

ปักธง 'อาเซียน' หมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจ

การลงทุนหรือการขยายธุรกิจในต่างแดน โดยเฉพาะ "อาเซียน" ถือเป็นหมุดหมายของการเติบโตทางธุรกิจที่น่าสนใจ ส่วนอะไรคือแรงจูงใจ และเหตุผลที่ทำให้หลายธุรกิจเริ่มหันไปมองหาโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียน ต้องติดตาม

แม้ว่าแนวโน้ม เศรษฐกิจไทย จะยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าหลายประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.4% และปี 2567 ที่ระดับ 3.6% อย่างไรก็ตามในแง่โอกาสการขยายตัวทางธุรกิจในระยะยาว ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณา และมองหาโอกาสการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ แสวงหาโอกาสจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

บริษัทน้อยใหญ่พร้อมใจออกไปหาโอกาสใหม่ในต่างประเทศ

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้ต้นทุนการจ้างงานของไทยสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนด้านอื่นๆ ตามไปด้วย ขณะที่โอกาสในการสร้างรายได้ในประเทศไทยเริ่มอิ่มตัว ประชากรเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง และประเทศไทยเข้าสู่ สังคมสูงวัย ไปแล้ว แนวโน้มดังกล่าว ทำให้มีการขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นบริษัทขนาดกลางมีความสนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยรายงานการศึกษาของ ธนาคารยูโอบี ใน UOB Business Outlook Study 2023 (SME & Large Enterprises) ที่ได้สำรวจบริษัทกว่า 4,000 แห่ง จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักใน 7 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน และฮ่องกง พบว่า มากกว่า 4 ใน 5 หรือ 80% ของธุรกิจกำลังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปต่างประเทศในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจใน อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และไทย สนใจจะขยายตลาดไปต่างประเทศมากที่สุด และจุดหมายหลักในอาเซียนที่ธุรกิจต้องการขยายตลาดคือ สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่สนใจมากที่สุด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ภาคค้าส่งและส่งออก และสุดท้ายคือ ธุรกิจไอที สื่อสารและโทรคมนาคม 

เหตุผลหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจสนใจออกไปลงทุนต่างประเทศคือ การแสวงหากำไร คิดเป็น 64% ตามมาด้วยการเพิ่มรายได้ การสร้างภาพลักษณ์ระดับนานาชาติให้แก่องค์กร การกระจายธุรกิจไปในภูมิภาคอื่น และสุดท้ายคือ การรับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ

ปักธง \'อาเซียน\' หมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจ

"อาเซียน" ตลาดที่ต้องออกไปเติบโต

นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ธุรกิจใน อาเซียน เน้นการขยายตลาดภายในภูมิภาค โดยสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย เป็นจุดหมายหลักที่ธุรกิจสนใจจะขยายตลาด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาคธุรกิจต้องการมาขยายฐานการผลิตและการลงทุนในอาเซียน เพราะหากพิจารณาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้ เนื่องมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอังกฤษ ที่อัตราการเติบโตลดลง และยังมีความไม่แน่นอนที่จะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอย่าง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะการเงินที่ตึงตัว และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น แต่จะเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานที่ดีในอาเซียน ช่วยให้ตลาดนี้มีความสามารถต้านทานความผันผวนของตลาดการเงินในปี 2565 ที่ผ่านมาได้ 

ธนาคารยูโอบี ยังคาดว่า การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจหลักในอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) จะชะลอตัวลงต่ำกว่า 5% ในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยจากที่ระดับ 6% ในปี 2565 นอกจากนี้ความเชื่อมโยงของอาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้นทั้งทางกายภาพ การค้า และการลงทุนและการเงิน จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นในภูมิภาค ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การมีส่วนร่วมและความรู้สึกร่วมของคนในภูมิภาค โดยธนาคารยูโอบีมองว่า มี 3 ประเด็นหลักที่จะยกระดับความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนให้มากขึ้น

  1. ความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่จะเกิดขึ้นผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างทางถนนและท่าเรือระหว่างประเทศ (ทั้งทางทะเลและทางอากาศ) เพื่อรองรับกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ 
  2. ความเชื่อมโยงทางการค้าในอาเซียน ที่มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 เป็น 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 (เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในทศวรรษที่ผ่านมา) ภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอาเซียน มีสัดส่วนเกือบ 98% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอาเซียนด้วย
  3. การลงทุนและการเชื่อมต่อทางการเงิน โดยในปี 2564 เม็ดเงินลงทุนหรือ FDI ไหลเข้าอาเซียนอยู่ที่ 179.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากสหรัฐอเมริกากว่า 22.5% รองลงมาคือ สหภาพยุโรปที่ 14.8% และเป็นการลงทุนภายในอาเซียนที่ 13.1% โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมการเงินและประกันภัยกว่า 32% ตามมาด้วยภาคการผลิต รวมถึงการค้าส่งและค้าปลีกซึ่งมีสัดส่วน 25.8% และ 13.5% ตามลำดับ ขณะที่เม็ดเงิน FDI ที่เห็นการเติบโตมากที่สุดคือ ภาคข้อมูลและการสื่อสารที่เติบโตมากถึง 428% หรือประมาณ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในยุคของการ WFH 

ปักธง \'อาเซียน\' หมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจ

สำหรับความเชื่อมโยงทางการเงินในอาเซียนที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่นที่สุดคือ การส่งเสริม Local Currency Settlement (LCS) ที่จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและ FDI ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้ รวมถึงการใช้ LCS จะมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาคมอาเซียนและการเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักที่ภาคธุรกิจกว่า 39% มองว่า จะต้องเผชิญเมื่อออกไปขยายกิจการในต่างประเทศคือ การหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เหมาะสม ตามมาด้วยเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญภายในองค์กรที่จะออกไปลุยตลาดต่างประเทศ โดยการขาดแคลนบุคลากรทีมีความเชี่ยวชาญในองค์กร เป็นความท้าทายที่ธุรกิจในจีนเผชิญมากเป็นอันดับต้น

ดังนั้น การมีพันธมิตรที่ดีก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่สามารถออกไปขยายตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนและนอกภูมิภาคเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น ซึ่ง UOB ในฐานะธนาคารระดับภูมิภาคที่มีเครือข่ายที่เข็มแข็งพร้อมจะเป็นกุญแจสำคัญที่เชื่อมต่อธุรกิจ ให้บริการด้านการค้าข้ามพรมแดน และเสริมจุดแข็งในด้านการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจให้สามารถออกไปเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ปักธง \'อาเซียน\' หมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางธุรกิจ