กสิกรไทย เปิดตัว KIV เรือธงแรก หวังทำกำไรปีนี้แตะพันล้าน- หนุนรายได้แบงก์โต
“กสิกรไทย”แยก“กสิกร อินเวสเจอร์” เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง ลงทุนร่วมกับพันธมิตร ลดต้นทุนช่วยรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ ปัจจุบันมี 14 บริษัท หวังประเดิมทำกำไรปีนี้ 1พันล้านบาท และถึง4.5พันล้านในปี 69 ลั่นเป็นเรือธงแรก หนุนรายได้ธนาคารโตยั่งยืน
ธนาคารกสิกรไทยเปิดยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาวประกาศแยก“บริษัทกสิกร อินเวสเจอร์จำกัด"หรือเคไอวี(KASIKORN INVESTURE: KIV) และ“นายพัชร สมะลาภา”เข้าดำรงตำแหน่งGroup Chairmanของ เคไอวีเพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อยพร้อมใช้ศักยภาพของพันธมิตรร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของธนาคารเพื่อให้สามารถลดต้นทุนธุรกิจและลดต้นทุนความเสี่ยงด้านเครดิต
ปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของเคไอวีประกอบด้วย14บริษัทใน9กลุ่มธุรกิจ อาทิบริษัทบริหารสินทรัพย์เจเค,บริษัทบริหารสินทรัพย์เจจำกัด,บริษัทเงินให้ใจจำกัด,บริษัทกสิกรไลน์จำกัดเป็นต้นรวมมูลค่าการลงทุนรวมราว 30,000ล้านบาท
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวว่า บริษัทกสิกรอินเวสเจอร์จำกัดหรือเคไอวีเป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยเพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า(Empower Every Customer's Life and Business)
โดยเคไอวีจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารและพันธมิตรเพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่าด้วยต้นทุนที่เหมาะสมทั้งนี้เคไอวีถือเป็นเรือธงแรกของธนาคารที่จะสร้างรายได้ให้ธนาคารอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกันนั้นก็อยู่ระหว่างการทดสอบระบบอีกหลายๆอย่างที่จะทยอยๆออกมาในระยะต่อไป
“เคไอวีจะทำธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของธนาคารแต่จะเน้นในกลุ่มรายย่อยที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อสถาบันการเงินซึ่งการจะทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะต้องมีความแตกต่างจากเงื่อนไขของธนาคารต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเพื่อให้สามารถเข้าถึงเขาได้ซึ่งตรงนี้ก็จะมาเติมเต็มส่วนที่ธนาคารทำได้ยาก”
นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการของเคไอวีโดยมีนายพัชร สมะลาภา เข้าดำรงตำแหน่งGroup Chairman ของเคไอวีและแยกเคไอวีออกมาเพื่อทำให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจขยายความร่วมมือกับพันธมิตรภายใต้การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ธนาคารมั่นใจว่าการปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคารทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเองรวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
อย่างไรก็ตามแม้จะมีเคไอวีแล้วแต่ธนาคารยังศึกษาการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาVirtual Bankและดูหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจากทางธปท.ก่อนจะตัดสินใจ
นายพัชร สมะลาภา Group Chairman เคไอวี กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของเคไอวี ได้เริ่มทดลองทำธุรกิจมาจากปี2565นั้นบริษัทมีกำไรสุทธิ 81ล้านบาท มียอดปล่อยสินเชื่อ 37,000 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนรวม 21,500 ล้านบาท และมีจำนวนบริษัทที่ลงทุนที่ 6 ราย
รวมทั้งตั้งเป้าหมายในปีนี้มี มีกำไรสุทธิ 900-1,100 ล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อ 40,000-45,000 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนรวม 25,000-30,000 ล้านบาท และมีจำนวนบริษัทที่ลงทุนเพิ่มเป็น 14 ราย
และภายในปี 2569 ตั้งเป้หมาย มีกำไรสุทธิ 4,500-5,000 ล้านบาทยอดปล่อยสินเชื่อ 75,000 -80,000 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนรวม 65,000 -70,000 ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริษัทที่ลงทุนทั้งสิ้น 14 บริษัท
"เคไอวีดำเนินธุรกิจภายใต้ไลน์เซ่นส์สินเชื่อบุคคลและนาโนไฟแนนซ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย2ล้านรายปล่อยกู้ไม่เกิน50,000บาทต่อรายและมีกำไรโดยปัจจุบันมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของไลน์บีเคประมาณ2หมื่นล้านบาทรวมถึงสินเชื่อเงินได้ใจซึ่งเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถประมาณ2หมื่นล้านบาทอันนี้จะแยกมาจากบริษัทกสิกรลีสซิ่งส่วนอื่นได้จะมีส่วนของการสนับสนุนทางเทคฯต่างๆและความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆต่อไป”
สำหรับเป้าหมายของเคไอวีคือเพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยซึ่งมีโจทย์สำคัญคือต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน(Operating Cost)และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ(Credit Cost)เพื่อให้ยังคงความสามารถในการสร้างกำไรของธุรกิจการดำเนินงานของเคไอวีอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้านรวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว
เช่น จำนวนลูกค้ากว่า20ล้านรายK PLUSเงินทุนข้อมูลไอทีและสาขาเป็นต้นซึ่งทำให้เคไอวีมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นสามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเจ้าของร้านค้ารายเล็กกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่องให้สามารถใช้บริการการเงินในระบบได้มากขึ้น