ภาษีต้องรู้...ในโลกของการลงทุน
โลกของ "การลงทุน" นอกจากผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องมีความรู้และศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนแล้ว "ภาษี" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต้องนำมาพิจารณาประกอบ
ในโลกของการลงทุนนอกจากผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องมีความรู้และศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนแล้ว ภาษีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต้องนำมาพิจารณาประกอบกันเพราะเมื่อเราได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนใดๆ มาก็มักจะมีภาระภาษีที่ตามมาด้วย ภาษีถือเป็นต้นทุนหนึ่งในการลงทุน ดังนั้น เมื่อวางแผนการลงทุนแล้วเราก็ควรต้องศึกษาภาระภาษีที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เราไปลงทุนและได้รับผลตอบแทนนั้นๆ ด้วย
ภาพรวมประเภทผลตอบแทนกับภาระภาษีสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาในไทย
เงินกำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital gains) ที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินในไทย เช่น กำไรส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายจากการขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์, กองทุนรวม, Exchange Trade Fund (ETF) เงินได้จากผลตอบแทนประเภทนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด แต่ถ้าเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีฯ
เงินปันผล (Dividend) หากเราได้รับผลตอบแทนในรูปของส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผล เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 10% เช่น เงินปันผลประกาศจ่าย 100 บาท เมื่อมีการจ่ายจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10 บาท แปลว่าเราจะได้รับเงินจริง 90 บาท นักลงทุนบุคคลธรรมดาจะมีวิธีจัดการกับภาระภาษีนี้ได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1) เลือกนำเงินปันผลที่ได้รับนี้ไปรวมกับรายได้อื่นๆ ทั้งปีเพื่อนำไปรวมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปี (แบบ ภ.ง.ด.90/ ภ.ง.ด.91)
โดยในส่วนของเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นฯ (ไม่ใช่เงินปันผลที่ได้จากกองทุนรวม) และบริษัทที่จ่ายเงินปันผลจะต้องไม่ใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น กิจการที่ได้รับสิทธิ BOI จะมีส่วนที่เรียกว่า เครดิตภาษีเงินปันผล หากเรารู้จักวิธีการคำนวณแบบใช้เครดิตภาษีเงินปันผลโดยเฉพาะกับผู้ที่มีฐานเงินได้ไม่สูงนักอาจทำให้ได้รับเงินคืนภาษีที่มากกว่า
ส่วนวิธีที่ 2) คือ วิธี Final Tax เลือกจะไม่นำเงินปันผลไปคำนวณรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีปลายปี คือ ยอมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% แล้วจบ เราสามารถเตรียมตัววางแผนภาษีล่วงหน้าก่อนถึงเวลายื่นภาษีเงินได้ประจำปีเพื่อดูว่าวิธีไหนทำให้เราประหยัดภาษีได้มากกว่า
โดยลองคำนวณเปรียบเทียบภาระภาษีใน 2 ทางเลือก หากไม่แน่ใจว่าวิธีการคำนวณภาษีเงินปันผลนั้นคำนวณอย่างไร หรือถ้าคำนวณเองจะถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถใช้บริการ Investor Portal ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นตัวช่วยในการจัดการและคำนวณภาษีเงินปันผลฯ ได้ครบทุกหลักทรัพย์ที่ TSD เป็นนายทะเบียน และสามารถยื่นภาษีกับสรรพากรด้วยการดาวน์โหลดและส่งไฟล์ข้อมูลภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกด้วย
ดอกเบี้ย (Interest) จากการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทตราสารหนี้ซึ่งจัดอยู่ในประเภทการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชนไทย พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในรูปรายได้ดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นการถือจนครบกำหนดอายุหรือซื้อขายในตลาดรองด้วยราคา discount จากราคาหน้าตั๋วจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ โดยเรามีสิทธิเลือกว่าจะนำดอกเบี้ยที่ได้รับนี้ไปรวมกับรายได้อื่นๆ ทั้งปีเพื่อนำไปรวมยื่นภาษีตอนปลายปีหรือเลือกวิธี Final Tax ก็ได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น หากเราเลือกใช้วิธี Final Tax หรือวิธีรวมยื่นภาษีปลายปีก็จะต้องใช้วิธีเดียวกันกับเงินได้ในกลุ่มนี้ทุกตัว
สำหรับนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ หากเราลงทุนแล้วมีกำไรก็ย่อมต้องมีภาระภาษีตามมา โดยเงื่อนไขทั่วไปต้องเช็คก่อนว่าเราเข้าเงื่อนไขครบทุกข้อดังต่อไปนี้หรือไม่
1) อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 180 วันในปีภาษีนั้น
2) มีเงินได้จากต่างประเทศเกิดขึ้นในปีภาษีนั้น
3) นำเงินได้จากต่างประเทศกลับเข้ามาในไทยในปีภาษีนั้น
สรุปคือ เงินได้จากการลงทุนในไทยจะมีภาระภาษีหลักๆ จากผลตอบแทนประเภท Capital gains, เงินปันผลและดอกเบี้ย ในขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนในต่างประเทศนอกจากหลักการภาษีเบื้องต้นที่ได้อธิบายไปแล้ว นักลงทุนเองก็ควรจะต้องมีการศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมรวมถึงสอบถามผู้แนะนำการลงทุนประกอบกันด้วย