สำนักวิจัย แห่ปรับ ‘ จีดีพี’ ปี66 การเมือง-ส่งออก ทุบเศรษฐกิจดิ่ง

สำนักวิจัย แห่ปรับ ‘ จีดีพี’ ปี66 การเมือง-ส่งออก ทุบเศรษฐกิจดิ่ง

“นักเศรษฐศาสตร์” ประสานเสียงเตรียมลดประมาณการ “จีดีพี” ปีนี้ เหตุส่งออกชะลอตัวกว่าที่คาด จากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ซ้ำเติมด้วยตั้งรัฐบาลล่าช้า “เอสซีบีอีไอซี-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ อาจลดเหลือ 3%กลางๆ บล.เคเคพี เชื่ออยู่ที่ 3% ต้นๆ ด้าน “ทีทีบี” จ่อหั่นเหลือ 3.2%

       ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 อาจต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.6% สาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาด

       ดังนั้นอาจเห็นการปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือ 3% กลางๆ ในการปรับประมาณการครั้งหน้า ซึ่งทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีเช่นกัน สำนักวิจัย แห่ปรับ ‘ จีดีพี’ ปี66 การเมือง-ส่งออก ทุบเศรษฐกิจดิ่ง

       นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC อยู่ระหว่างปรับประมาณการจีดีพีปี 2566 ลงจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% เพราะมูลค่าการส่งออกลดลงมากหลังกิจกรรมเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง

    ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร์ที่แม้จะประเมินไว้อยู่แล้วว่าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การกีดกันการมีส่วนร่วมในการผลิตรุนแรงขึ้นทำให้จีนได้รับผลกระทบมากขึ้น ซึ่งไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมากจึงเลี่ยงผลกระทบไม่ได้

      สำหรับการปรับจีดีพี ส่วนหลักๆมาจากการชะลอลงของการส่งออก ซึ่งต้องขอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ที่ออกมาในสัปดาห์นี้ออกมาให้ชัดเจนก่อน ถึงจะประเมินตัวเลขจีดีพีใหม่ที่ชัดเจนได้"

      อย่างไรก็ตามคงเห็นจีดีพีปรับลงมาที่ระดับ 3% กลางๆ เพราะผลกระทบจากการส่งออก ขณะนี้ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 0.2% ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยอื่นเข้ามา 

       ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเชื่อว่าไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ แต่จะกระทบการเติบโตของจีดีพีในปี 2567 ให้ลดลงเป็นผลจากงบการลงทุนและการเบิกจ่ายล่าช้า

       “การเมืองยิ่งจบช้าเท่าไหร่ การลงทุนจะยิ่งล่าช้าไปด้วย แต่ผลกระทบจะไปปูดในปีหน้ามากกว่า ดังนั้นสิ่งที่กังวลไม่ใช่ปีนี้ แต่เป็นปีหน้า ที่อาจต่ำกว่าประมาณการที่เราประเมินไว้ด้วย เพราะเมื่อการลงทุนภาครัฐไม่มา การใช้จ่ายภาคเอกชนต่างๆก็ไม่มาด้วย และยิ่งส่งออกมีผลกระทบลากยาว จากการไม่มีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ชัดเจน อันนี้น่าห่วง”

จัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบเชื่อมั่น

      นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวมความล่าช้าของการตั้งรัฐบาลในประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ระดับหนึ่ง แต่จะกระทบความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่อาจชะลอในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจน

      สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2566 ชะลอตัวกว่าที่คาดเพราะการส่งออกอาจติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้ว่าติดลบ 1.2% จากดีมานด์จีนลดลง อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยมีการใช้จ่ายไม่สูงเท่าอดีต ดังนั้นจะส่งผลให้จีดีพีลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7% มาอยู่ที่ระดับ 3% กลางๆ ใกล้เคียงที่ ธปท.ประเมินไว้ได้

     “โมเม้นท์ทุกอย่างวันนี้ถดถอยลงรัฐบาลไม่รู้มาเมื่อไหร่ แม้มองว่าตัวเลขการใช้จ่าย การเบิกจ่ายปีนี้จะไม่แย่มาก เพราะมีการคาดการณ์อยู่แล้ว แต่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่ภาคส่งออกชะลอกว่าที่คาดอาจติดลบเพิ่มเป็นเป็นระดับ 2-3% จากเดิมที่คาดติดลบ 1.2%  หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ที่ล่าสุดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ดังนั้นสถานการณ์เหล่านี้แย่กว่าที่ประเมินไว้”

ฟื้นตัวไม่ทั่วถึงตัวฉุดเศรษฐกิจ

      นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีประเด็นที่น่าห่วง คือ ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาภาพยังไม่ได้ดูดีในครึ่งปีแรก แต่คาดจะฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีหลังจากท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เชื่อว่าจีดีพีปี 2566 จะปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ 3.3% โดยปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่อาจติดลบกว่าคาดไว้ที่ติดลบ 3%

      ทั้งนี้หากดูกลางปีนี้ส่งออกติดลบไปแล้ว 5% จากเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว การค้าโลกยังติดลบต่อเนื่อง ดังนั้นถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้ รวมถึงภาคการผลิตของไทย ปัจจุบันยังติดลบต่อเนื่อง สะท้อนถึง uneven recovery คือการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ทั่วถึงในทุกภาคส่วน และยิ่งมีปัจจัยซ้ำเติมจาก ภาวะหนี้ และดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ยิ่งสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

      โดยเฉพาะการบริโภคที่หวังพึ่งพาจากการก่อหนี้จะยิ่งลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะระดับล่าง สะท้อนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น มีปัญหาต่อคนระดับล่างมากขึ้น ขณะที่คนรวยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เหล่านี้สะท้อนถึงการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจไทยที่สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

      ส่วนปัจจัยการเมือง ถือเป็นปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย เพราะภายใต้ที่ยังไม่มีความชัดเจน ทุกคนจะเกียร์ว่าง ทั้งราชการ และเอกชน ดังนั้นเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ทำให้ต้องปรับประมาณการลง แม้ปัจจุบันการคาดการณ์จีดีพีของ KKP จะอยู่ระดับต่ำอยู่แล้ว ที่ระดับ 3.3%

      “การปรับจีดีพีคงปรับลงอีก เพราะวันนี้ downside Risk เพิ่มขึ้น ทำให้จีดีพีอาจต่ำกว่าที่เราประเมินไว้ ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจโต 2% ไตรมาส 3 น่าจะได้ 3% และไตรมาสสุดท้ายใกล้ 4% ทำให้ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 3%ต้นๆ เพราะวันนี้ภาพไม่ได้ดี การบริโภคหนืด ธุรกิจเริ่มบ่น และได้รับผลกระทบ ยกเว้นท่องเที่ยวที่ยังไปได้”

หนี้ครัวเรือนสูงกระทบบริโภค

     นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต หรือ ttb analytics กล่าวว่า ทีทีบี อยู่ระหว่างการปรับจีดีพีลงเหลือ 3.2% ปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 3.4% จากการส่งออกที่ติดลบกว่าคาด ซึ่งเดิมคาดขยายตัว 0.5% และมีโอกาสติดลบมากขึ้นไปสู่ระดับ 2% จากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง

      ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง โดยมีส่วนดึงให้การบริโภคเอกชนและการลงทุนชะลอตัวลง ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุด แม้จะมีผลกระทบไม่มากต่อการขยายตัวของจีดีพี แต่ก็มีผลทำให้ภาคส่วนอื่นชะลอตัวไปด้วย

      “มี 3 ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจ คือ ส่งออก หนี้ครัวเรือนและการบริโภค ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่เดิมเราคิดว่าการลงทุนภาครัฐจะไม่โตอยู่แล้วเพราะการเบิกจ่ายช้า แต่อาจกระทบไปถึงการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน ในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนได้”

ตั้งรัฐบาลช้าฉุดจีดีพีปีนี้หน้าทรุด

     นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า มุมมองของซีไอเอ็มบีไทยคาดว่าจะได้รัฐบาลราว ก.ย.2566 โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ 

     ดังนั้นภาพการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้น แม้ประมาณการการจัดตั้งรัฐบาลจะล่าช้ากว่าที่คาด จากเดิม ส.ค.2566 แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่มาก เพราะไม่ได้ให้น้ำหนักจากการใช้จ่ายภาครัฐมากอยู่แล้วในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐจะไม่ใช่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

     โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะมีผลต่อการประมาณการการใช้จ่ายและการเบิกจ่ายภาครัฐในปีหน้ามากกว่า โดยเฉพาะไตรมาสแรกปีหน้า ที่อาจสูญเสียโอกาสจากการขาดงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะคาดว่า งบประมาณภาครัฐจะสามารถออกมาได้ราวเม.ย. ปีหน้า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว

     ดังนั้นประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ แม้จะมีทิศทางชะลอตัว แต่คาดการณ์เดิมของ ซีไอเอ็มบีไทย ปีนี้ไม่ได้อยู่ระดับสูงอยู่แล้ว โดยคาดการณ์ขยายตัวเพียง 3.3% และปีหน้า 3.7% ดังนั้นแม้หากรับลดลงก็ไม่มาก ดังนั้นขอดูภาพเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆให้มีความชัดเจนอีกครั้ง ก่อนปรับภาพจีดีพีไทยปีนี้

จับตานโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

     นายอมรเทพ กล่าวว่า นอกจากความล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนขั้วทางการเมืองลักษณะนี้ นโยบายต่างๆจะออกมาเป็นภาพอย่างไร

       โดยเฉพาะมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเห็นได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า และการที่จะมีมาตรการอื่นออกมา คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง หรือมาตรการการปรับทักษะของแรงงานก่อนปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้นายจ้างมีความสามารถในการจ่ายเงินมากขึ้น

       นอกจากโจทย์การตั้งรัฐบาลใหม่แล้วหลังจากนี้ที่จะเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาแล้ว ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทย หลัก คือ การส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง และอาจไม่ได้ฟื้นตัวในช่วงปลายปีเหมือนที่คาดไว้

       ดังนั้นส่งออกจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก ซึ่งหากจะปรับจีดีพีลงก็มาจากปัจจัยการส่งออกเป็นหลักจากเดิมติดลบเพียง 2%  แต่ครึ่งปีแรกติดลบสูงกว่า 5% ดังนั้นหากภาพไม่ได้ฟื้นตัวเหมือนที่คาดในปลายปีนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมีเพิ่มขึ้นแน่นอน

       “โจทย์หินของรัฐบาลใหม่ คือ รัฐบาลจะเตรียมความพร้อมอย่างไร กับปัญหารอบบ้านที่กำลังเป็นปัญหา จะต้านผลกระทบเหล่านี้อย่างไร ทั้งการส่งออก และปัจจัยในประเทศเราเอง และเศรษฐกิจไทยวันนี้ไม่ได้มีการกระจายตัวไปสู่คนระดับล่าง เอสเอ็มอี ภาคเกษตรยังแย่ ยิ่งเจอปัญหาภัยแล้ง ที่จะมีปัญหาค่อนข้างมาก และเราอยู่ภายใต้หนี้สูง เหล่านี้อาจตอกย้ำการขาดสภาพคล่องของคนระดับล่าง มากขึ้น”นายอมรเทพ กล่าว