มหากาพย์ อสังหาฯ จีน จาก Evergrande ถึง Country Garden ส่อกระทบ อสังหาฯ ไทย ?
เกิดอะไรขึ้นกับ Country Garden ยักษ์ใหญ่อันดับ 6 ในภาคอสังหาฯ จีน จะล้มลงเหมือน Evergrande หรือไม่ นักวิเคราะห์หวั่น กระทบบาทไทยอ่อน ฟันด์โฟลว์จากจีนน้อยลง แนะจับตากลุ่มที่พึ่งพาสินเชื่อจาก Non-bank ชี้หากดีมานด์จีนหด อสังหาฯ ที่พึ่งพาลูกค้าจีนอย่างเดียวอาจสะเทือน
Key Points
- หุ้น Country Garden ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 4.54 บาท หลังบริษัทฯ ออกมาระบุว่า เตรียมปรับโครงสร้างหนี้
- วิกฤติอสังหาฯ ในจีนเริ่มมาตั้งแต่ยอดขายอสังหาฯ ตกต่ำในช่วงโควิด-19 รวมทั้งการปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลจีน จนทำให้ผู้พัฒนาฯ หลายแห่งผิดนัดชำระ หนึ่งในนั้นคือ คันทรี การ์เดน
- นักวิเคราะห์ประเมินวิกฤติคันทรี การ์เดน ยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยอยู่ในภาคอสังหาฯ ของจีน เพราะสัดส่วนที่ใหญ่กว่าคืออสังหาฯ ที่เชื่อมโยงกับรัฐ หรือ SOE
- คันทรี การ์เดน มีหนี้ทั้ง Onshore และ Offshore ทั้งหมด 2 พันล้านดอลลาร์ แต่หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ เพราะดอกเบี้ยขาขึ้น
- ณ สิ้นปี 2022 บริษัทฯ มีกระแสเงินสดเหลือประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6 แสนล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นปี 2022 มีหนี้สินอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์
- สำหรับประเทศไทยควรจับตากลุ่มอสังหาฯ ที่พึ่งพากลุ่มลูกค้าแบบกระจุกตัว หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง กลุ่มที่พึ่งพาสินเชื่อจาก Non-bank และ กลุ่มตลาดต่างจังหวัด
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา เจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ปรับขึ้นคาดการณ์แนวโน้มการผิดนัดชำระของบริษัทในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) จากระดับเดิม 6% ไปอยู่ที่ 9.7% ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงผิดนัดชำระของบริษัทในภูมิภาคเอเชียจาก 4.1% เป็น 10%
โดยเจพีมอร์แกน ให้เหตุผลว่า เพราะความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผิดนัดชำระดอกเบี้ยจากการขาดสภาพคล่องของบริษัทคันทรี การ์เดน (Country Garden) ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 6 ของจีน โดยหากไม่นับรวมความเสี่ยงของจีน เปอร์เซ็นต์การผิดนัดชำระของภูมิภาคเอเชียจะอยู่ที่เพียง 1% นั้นเท่ากับว่า ความเสี่ยงของจีนเพียงประเทศเดียวคิดเป็นทั้งหมด 9%
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค. หุ้น Country Garden ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 4.54 บาท หลังบริษัทฯ ออกมาระบุว่า เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ เพราะมีหนี้สินรวมประมาณ 1.94 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 และคาดว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 อาจรายงานการขาดทุนสูงถึง 7.6 พันล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท (ราว 8.25 ล้านล้านบาท)
โดย คันทรี การ์เดน แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ความไม่แน่นอนครั้งใหญ่” หรือ Major Uncertainties กับความสามารถในการไถ่ถอนหุ้นกู้ของบริษัทฯ หลายฉบับ ซึ่งท้ายที่สุดหากคันทรี การ์เดน ไม่มีความสามารถไถ่ถอนสินทรัพย์เหล่านั้นจริง อาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งในจีน และประเทศคู่ค้ามหาศาล มากกว่าไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) อดีตยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน เนื่องจากมีโครงการในพอร์ตมากกว่าถึง 4 เท่า
โดยหากอ้างอิงข้อมูลซึ่งรวบรวมโดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า คันทรี การ์เดน เป็นหนึ่งในผู้ออกหุ้นกู้ที่มีโดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากจีน โดย ณ วันที่ 11 ส.ค. 2566 มีหนี้สินคงค้างอยู่ที่ 9.9 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.27 แสนล้านบาท
ที่สำคัญ ไชน่า อินเด็ก อคาเดมี่ (China Index Academy) บริษัทวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ สัญชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนทั้งแบบในประเทศ (Onshore) และนอกประเทศ (Offshore)ทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 6.6 หมื่นล้านบาท ทว่า ณ สิ้นปี 2022 บริษัทฯ มีกระแสเงินสดเหลือประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 6 แสนล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นปี 2022 หนี้สินอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์
โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ปัญหาของคันทรีการ์เดนปัจจุบันเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนกลับมาชะลอตัวอีกครั้งหลังจากที่ดีดกลับไปในช่วงไตรมาส 1 อีกทั้งในเดือน ก.ค. ยอดขายบ้านยังร่วงลงมากที่สุดในรอบหนึ่งปี
ทั้งหมดส่งผลให้บรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับความยากลำบากในการหาเงินสดที่จำเป็นเพื่อบรรเทาวิกฤติสินเชื่อ ความล้มเหลวจากกรณีคันทรี การ์เดนในการชำระหนี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบางอยู่แล้ว ท่ามกลางการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาลจีนที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
โมนิก้า เซียว (Monica Hsiao) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของเทรียด้า แคปิตอล (Triada Capital) บริษัทจัดการสินทรัพย์สัญชาติฮ่องกง กล่าวว่า "คันทรีการ์เดนอาจมีความเต็มใจที่จะชำระหนี้ แต่เขาก็ไม่มีเงินสดมากพอ" พร้อมเสริมว่า “ถ้าปราศจากการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพจากรัฐ ยังไงก็ต้องเริ่มเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้”
ทั้งนี้ภาคอสังหาฯ ของจีนเริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างมากในปี 2564 ที่บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) อดีตผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน เริ่มผิดนัดชำระหนี้จากวิกฤติสภาพคล่องของบริษัท ประกอบกับในช่วงนั้นรัฐบาลจีนเข้ามาปราบปรามภาคส่วนดังกล่าว
โดยสี จิ้นผิง (Xi Jingping) ออกมากล่าวประโยคดังที่ว่า “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร” และยอดขายอสังหาฯ ในช่วงโควิด-19 ที่อ่อนแอมากขึ้น ทั้งหมดกดดันให้มีผู้พัฒนาอสังหาฯ น้อยใหญ่จำนวนหนึ่ง เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตามไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ทั้ง คาเซีย (Kasia), แฟนตาเซีย (Fantasia), ชือเหมา กรุ๊ป (Shimao Group) และคันทรี การ์เดน ซึ่งปัจจุบันเอเวอร์แกรนด์ยื่นฟ้องล้มละลายกับศาลสหรัฐเรียบร้อยแล้วในช่วงกลางเดือน ส.ค.
ประเด็นนี้น่ากังวลมากน้อยแค่ไหน
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผอ.ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า ปัญหาของบริษัทคันทรี การ์เดน ถือว่าวิกฤติ แต่นักลงทุนก็ต้องฟังหูไว้หู โดยภาพรวมของปัญหาในรอบนี้เป็นปัญหาจริง เพราะอสังหาฯ เริ่มขายไม่ออก ราคาเริ่มปรับตัวลดลง ส่งผลให้สภาพคล่องของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดน้อยลง จนสุดท้ายเบี้ยวหนี้
แต่สำหรับบริษัทคันทรี การ์เดน หากย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ยังมีการจ่ายปันผลอยู่เลย โดยผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังได้รับผลประโยชน์จากบริษัทอยู่ ดังนั้นจึงมองว่าวิกฤติสามารถคลี่คลายได้ ถ้ามีความตั้งใจจริงและธรรมาภิบาลดีจริง
รวมทั้ง หากพิจารณาภาคอสังหาฯ ของจีน พบว่า บริษัทคันทรี การ์เดน เป็นอันดับต้นๆ ของผู้ประกอบอันดับชั้นนำที่เป็นเอกชน แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อยไม่ถึง 5% เมื่อเทียบกับผู้พัฒนาอสังหาฯทั้งหมดในจีนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในจีนบริษัทอสังหาฯ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (SOE) จะมีขนาดใหญ่กว่าทั้งในเชิงมาร์เก็ตแคปและยอดการขายจริง ดังนั้นสำหรับกรณีบริษัทคันทรี การ์เดน จึงมองว่า ต่อให้เป็นวิกฤติจริง ก็อาจจะเป็นวิกฤติที่สามารถควบคุมได้และขนาดความเสียหายอาจจะไม่มาก
ปัญหาคันทรี การ์เดน เกิดมาได้อย่างไร
ปัญหาของคันทรีการ์เดน เกิดตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจจีนชะลอตัวประกอบกับมีการล็อกดาวน์ ยอดการซื้อขายอสังหาฯ ในจีนจึงย่ำแย่ลง ประกอบกับภาครัฐจำกัดการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร โดยสี จิ้นผิง (Xi Jingping) ออกมาประกาศถ้อยแถลงที่ว่า “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ใช่มีไว้เพื่อเก็งกำไร”ทั้งหมดสอดผสานกันจนทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สภาพคล่องขาย และถือกองหนี้ไว้นาน 1-2 ปีในช่วงโควิด-19
อย่างไรก็ตาม หากหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในสกุลเงินหยวนก็ รัฐบาลจีนก็อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทว่าหนี้ของภาคส่วนดังกล่าว โดยเฉพาะบริษัทคันทรี การ์เดน มีทั้งในสกุลเงินหยวนและดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น ดังนั้นบริษัทอสังหาฯ ในจีน รวมทั้งคันทรีการ์เดน จึงตกอยู่ในสภาวะได้รายรับในสกุลเงินหยวน แต่ต้องจ่ายหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ ด้วยดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ประกอบกับสภาพคล่องที่หดตัวลง
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดังนั้นการที่เจพีมอร์แกนปรับขึ้นระมาณการความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มประเทศดังกล่าว รวมทั้งภูมิภาคเอเชียก็หมายรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยดร.จิติพล กล่าวในประเด็นของประเทศไทยว่า
คนไทยต้องมีความกังวลบ้าง เพราะความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจของทั้งไทยและจีนอยู่ในระดับสูง แต่ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไปเพราะ โดยมี 3 ประเด็นที่น่าจับตาคือ
1. แม้ว่าจะรวมวิกฤติของคันทรี การ์เดน เข้ามาแล้วแต่ขนาดไม่ได้ใหญ่มาก โดยช่วงนี้แม้จะมีการกระเด้งไปกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นจนทำให้ผิดนัดชำระเพิ่มมากขึ้น แต่ก็อยู่ในวงจำกัด
2. การจับจ่ายใช้สอยของคนจีน รวมไปถึงภาครัฐ แน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยถ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เพิ่มเงินเข้าระบบมากขึ้น สุดท้ายจะเกิดการผันเงินเพื่อท่องเที่ยว หรือลงทุนในจีนมากขึ้น อาจจะกระทบประเทศไทย
3. ความเชื่อมั่นก็จะลดลง เพราะเอกชนฝั่งจีนคงไม่กล้าลงทุนมากนัก หากภาครัฐไม่ได้เริ่มลงทุนก่อน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินลงทุนหยุดชะงักและทำให้บริษัทจีนที่อาจจะเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลง แม้จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ตาม
สถานการณ์ภาคอสังหาฯ ไทย
วัฏจักรเศรษฐกิจรวมทั้งนโยบายที่แตกต่างกันจะทำให้ปัญหาของไทยน้อยลงสำหรับวัฎจักรเศรษฐกิจของไทยยังเป็นขาขึ้นและพึ่งเปิดเมืองได้ไม่นาน ดังนั้นต่อให้นักท่องเที่ยวจีนไม่มา ก็จะมีนักท่องเที่ยวในประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไป ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทย - ภาคอสังหาฯไทยจะล้มไปกับจีนนั้นค่อนข้างยาก
ประกอบกับไทยพึ่งผ่านช่วงเลือกตั้งมา และปกติความเชื่อมั่นของตลาดจะอยู่ในระดับสูงไปอีก และเมื่อยังไม่มีรัฐบาล นักลงทุนก็จะมีความหวังอยู่เสมอว่าจะต้องมีรัฐบาล ดังนั้นประเด็นนี้ก็จะทำให้ธนาคารต่างๆ หรือนักลงทุนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาฯ ยอมให้เงินกู้และสภาพคล่องไปก่อน และหากไม่มีปัญหาจริงๆ ก็จะไม่ปล่อยล้ม เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าหลังได้รัฐบาลความเชื่อมั่นก็จะกลับมา
แต่ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลคือความต้องการขายอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ ทั่วโลกรวมทั้งในไทยมีมากกว่าความต้องการซื้อเพราะแนวคิดแบบทำงานที่บ้าน
ปัจจัยที่จะทำให้อสังหาฯไทย น่ากังวล
ทั้งนี้ แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยจะยังพอไปได้ ทว่า ดร.จิติพล ระบุว่า ยังมีจุดที่น่ากังวล ทั้งหมด 3 ข้อคือ
1. นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะไม่สนับสนุนหรือคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาฯเชิงพาณิชย์
2. ดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจกดดันให้ต้นทุนการซื้ออสังหาฯ เพิ่มขึ้น และกดดันให้ราคาลดลง
3. การผิดนัดชำระหนี้ เพราะหากเกิดขึ้นก็จะทำให้สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจลดน้อยลงและธนาคารจะเริ่มปล่อยเข้มงวดปล่อยกู้มากขึ้น
“สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้อสังหาฯ กลุ่มที่ต้องหาเงินผ่านตราสารหนี้ หรือเครื่องมืออื่นที่มากกว่าสินเชื่อจากธนาคารก็อาจต้องระวังเป็นพิเศษ และดอกเบี้ยระดับปัจจุบันถ้าธุรกิจไม่ดีจริง ค่อนข้างอยู่ยากเพราะมีต้นทุนการเงินสูงขึ้น”
ทั้งนี้ กลุ่มอสังหาฯ ที่ต้องจับตาคือกลุ่มที่พึ่งพากลุ่มลูกค้าแบบกระจุกตัว หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะหากดีมานด์จากต่างประเทศหรือจีนลดน้อยลงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน, กลุ่มที่พึ่งพาสินเชื่อจาก Non-bank และ กลุ่มตลาดต่างจังหวัด
อ้างอิง
1. CNBC
2. Bloomberg
3. Reuters
4. Bloomberg