เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก หวั่น ระยะยาว ถูกหั่นเรทติ้งส์ หากรัฐบาลใหม่แจกเงิน แต่ไร้รายได้

เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก หวั่น ระยะยาว ถูกหั่นเรทติ้งส์ หากรัฐบาลใหม่แจกเงิน แต่ไร้รายได้

“สภาพัฒน์” เผย เศรษฐกิจไทยอ่อนแอหนัก ยอดลงทุนเอกชนหด ส่งออกติดลบ ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวฮวบ ด้าน “นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ หวั่นถูกลดอันดับเครดิต หากรัฐบาลใหม่ใช้ “นโยบายประชานิยม” แต่หารายได้ - เก็บภาษีเพิ่มไม่ได้ จนต้องขอขยายเพดานหนี้

Key Points

  • สภาพัฒน์ ชี้ เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 เติบโตอยู่เพียง 1.8% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
  • นักเศรษฐศาสตร์ ประเมิน เศรษฐกิจไทยเผชิญทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก
  • หวั่นถูกลดอันดับเรทติ้งส์ หากรัฐบาลใหม่ใช้นโยบายประชานิยมแต่ไม่สามารถหารายได้-เก็บภาษีเพิ่มได้ จนต้องขยายเพดานหนี้ไปเรื่อยๆ

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดช่วงเช้าของวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 เติบโตอยู่เพียง 1.8% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัว 5.7% และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

ตัวเลขจีดีพีของไทย

ประกอบกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภคของภาครัฐ ที่ติดลบ 3.3% และ 4.3% ตามลำดับ โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โต 2.2% ส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์หลักอย่างภาคการท่องเที่ยว

โดย นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันค่อนข้างอ่อนแอกว่าที่คาด เพราะหลายฝ่ายประเมินว่าจีดีพีไทยจะโตอยู่ที่ 3.1% เมื่อเทียบแบบรายไตรมาส (QoQ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดการลงทุนจากเอกชนหด เนื่องจากพวกเขาไม่รู้ว่าใครจะได้รัฐบาล แล้วจะดำเนินนโยบายแบบไหน รวมทั้งตัวเลขการส่งออกก็ติดลบ สำทับกับความต้องการซื้อทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 นอกจากนี้ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสำคัญของไทยอย่างการท่องเที่ยวก็ได้รับแรงกดดันจากความปั่นป่วนของเศรษฐกิจจีน ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศไทยลดลง และยอดการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็ยังลดลงจากเดิมประมาณ 5 หมื่นบาทต่อคน มาอยู่ที่ 3 หมื่นบาทเท่านั้น

ตอนนี้ประเทศจีนเผชิญกับหลายวิกฤติ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจจีนปรับตัวแย่ลงกว่าเดิม เศรษฐกิจไทยก็อาจจะหดตัวลงหนักกว่าเดิม ต้นปีเรามองว่าจีดีพีจะโตอยู่ที่ 4% ตอนนี้มองที่ 3% แต่ถ้าจีนแย่ก็อาจจะน้อยกว่า 3% อย่างไรก็ตาม เรามองว่าไม่ถึงกับติดลบแน่นอน เพราะยังมีนักท่องเที่ยวอยู่

เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากดดันเศรษฐกิจไทย นายบุรินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญทั้งปัญหาเดียวกันกับที่หลายประเทศเผชิญ เช่น ภัยแล้ง ดีมานด์ของทั่วโลกลดลง รวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ของบ้านเราที่ฝังรากลึกมานานด้วย

1. หนี้ครัวเรือน: เป็นปัญหาที่รุนแรงมากคิดเป็น 90% ของจีดีพี หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท ปัญหานี้จะเข้าไปกดดันความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ​ ดังนั้นทั้งธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลใหม่ต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมาแก้ปัญหา

“ถ้าถามว่ามาตรการพักหนี้ดีไหม ระยะสั้นก็ดี แต่ถ้าในระยะยาวลูกหนี้ไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามา หนี้ก็ยังเยอะอยู่เหมือนเดิม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยให้เขาผ่อนจบให้ได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม จ่ายได้ จ่ายไหว และต้องจ่ายหมด ไม่ใช่จ่ายไปตลอดชีวิต”

2. การใช้จ่ายของภาครัฐ: หากรัฐบาลใหม่เข้าใช้มาตรการประชานิยม กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างร้อนแรง ในระยะสั้นเป็นผลดีแน่นอน เพราะมีสภาพคล่องในระบบมากขึ้น แต่ในระยะยาว ถ้าแจกเงินเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีรายได้เพิ่ม รวมทั้งแจกเงินจนต้องขยายเพดานหนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน

3. ภัยแล้ง: ปัญหานี้กระทบเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะท้ายที่สุดหากเกษตรกรในภาคการเกษตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจีดีพี ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย

4. การค้าระหว่างประเทศ: ช่วงนี้ทุกประเทศเผชิญกับความต้องการซื้อจากต่างประเทศลดลง เพราะปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะตัว ซึ่งก็เข้ามากดดันเศรษฐกิจไทย ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยว และการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลัก

“ถ้าพิจารณาดูจริงๆ มีแค่เรื่องหนี้ครัวเรือน และการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐเท่านั้นที่พอจะสามารถเข้าไปแก้ไขหรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ แต่เรื่องภัยแล้ง และการค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถทำอะไรได้

“แต่ในระยะยาวเราอาจต้องมาคิดวิธีเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพในฐานะนวัตกรรมของประเทศ หรืออาจใช้ช่วงเวลาที่การส่งออกชะลอตัวมาพัฒนาสินค้า และบริหารให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความรู้ และการศึกษาให้แรงงานไทยเป็นแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) มากขึ้น”

ทั้งนี้ นายบุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่มีแนวทางหาเงิน หรือเก็บภาษีเพิ่ม รวมทั้งยังพยายามขยายเพดานหนี้เพื่อให้สามารถใช้นโยบายประชานิยมได้เพิ่มขึ้น ทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต้องปรับลดอันดับเรทติ้งส์ของประเทศไทยลง

“บริษัทเรทติ้งส์เขามองแค่คุณมีความเสี่ยงผิดนัดชำระแค่ไหน สำหรับของสหรัฐอันดับเรทติ้งส์เป็นเพียงสัญลักษณ์ (Symbolic) เท่านั้น แต่สำหรับของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างไทย อันดับเรทติ้งส์มีความสำคัญ แต่ในเร็วๆ นี้ เรามองว่าคงยังไม่มีการปรับลด เพราะธนาคารก็แข็งแกร่ง หนี้สาธารณะก็ไม่สูงอยู่แค่ประมาณ 61% ของจีดีพี เว้นแต่รัฐบาลใหม่เข้ามาแจกเงินเยอะ หนี้สาธารณะเพิ่ม แต่ไม่มีรายได้เข้ามา

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงคาดการณ์จีดีพีในปี 2567 นายบุรินทร์ ประเมินว่า ยังไม่มีความชัดเจน เพราะยังไม่ทราบว่าดีมานด์ของต่างชาติจะกลับมาหรือยัง รวมทั้งความปั่นป่วนในจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป มีเรื่องบวกอย่างเดียวคือ คาดว่าต้นปีหน้าจะได้รัฐบาลแล้ว ดังนั้นก็หวังแต่เม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐไปก่อน  

“ปีหน้ายังมีความไม่แน่นอน แต่ที่แน่ๆ โอกาสในการโตแบบหวือหวาค่อนข้างน้อย ปัจจัยต่างๆ ยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คิด แล้วถ้าลองเปรียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยแย่ แต่กำลังซื้อจากต่างประเทศ จากจีนยังแข็งแกร่ง แต่ตอนนี้ตรงกันข้าม”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์