STARK : การทุจริตของบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นทางประตูหลัง
โดยปกติบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นต้องมีบรรษัทภิบาล (good corporate governance) คือ ต้องเปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นได้รับการกลั่นกรองจากคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะการเข้าสู่กระบวนการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO: initial Public Offering) ต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยแบ่งออก เป็น 2 ช่วง ตั้งแต่ก่อนเสนอขาย และช่วงเสนอขาย อย่างเข้มงวดกวดขัน
เริ่มแต่ ต้องประเมินราคา จำนวนหุ้น ช่วงเวลา ต่อมาต้องมีการเลือกผู้จัดจำหน่าย ทำข้อตกลงในเงื่อนไขการจัดจำหน่าย จัดตั้งทีมงาน IPO ซึ่งมีทั้งผู้รับประกัน ทนายความ นักบัญชี และผู้เชี่ยวชาญ ของสำนักงาน กลต. และอีกสารพัดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากทุกขั้นตอน
แต่ STARK ไม่เคยผ่านกระบวนการเช่นว่านั้น เพราะเป็นบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นทางอ้อม ซึ่งเรียกการ เข้าตลาดหุ้นแบบนี้ว่า Backdoor Listing หรือ Reverse Takeover คือ แอบเข้าทางประตูหลัง ไม่เปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้
เนื่องจากใช้วิธีการสวมรอยอาศัยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาด โดยบริษัทผู้ขายจะได้รับหุ้นเพิ่มทุนจำนวนมหาศาล เพียงพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ไปสู่กลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกตลาดที่มีสินทรัพย์มากกว่า
ทำให้บริษัทนอกตลาดสามารถเข้าตลาดได้ทางอ้อม จึงทำให้ไม่ต้องผ่านกรรมวิธี IPO ที่ต้องมีบรรษัทภิบาลอย่างยิ่งยวด เรียกว่าเป็นกรณีพลิกแพลงและแยบยลในการย่องเข้าทางประตูหลัง กลายเป็นบริษัทในตลาดหุ้นอย่างคาดไม่ถึง และไม่ผิดกฎหมายแต่บิดผัน (abuse) หลักบรรษัทภิบาล (ขอบคุณข้อมูลจากลงทุนแมน 101 : 15 มิถุนายน 2022)
ตัดภาพกลับไปเมื่อแปดปีที่ผ่านมา บริษัท Phelps Dodge ซึ่งผลิตสายไฟฟ้า สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจขายธุรกิจที่มีปัญหาในไทย ให้แก่ นาย ว. ด้วยมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีผู้ช่วยคนสำคัญ คือ นาย ช.
หลังจากนั้น บริษัท Phelps Dodge กลับมามีกำไร นาย ว. จึงตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วยกระบวนการ Backdoor Listing กล่าวคือ ให้บริษัทสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ที่อยู่ในตลาดหุ้น เป็นผู้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Phelps Dodge โดยออกหุ้นเพิ่มทุนให้กลุ่มของนาย ว. คิดเป็นมูลค่า 12,900 ล้านบาท
ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมของ SMM มีสัดส่วนลดลง กลุ่มของนาย ว. กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SMM ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น STARK ซึ่งช่วงแรกดำเนินธุรกิจตามปกติ ไม่มีสัญญาณของการทุจริต
จนถึงปลายปี 2565 STARK เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่สถาบันการเงินหลายแห่ง เป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อบริษัท LIONI Kabel และ LIONIshe อันเป็นธุรกิจที่ผลิตสายไฟฟ้ารถยนต์ EV และสายไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในประเทศเยอรมัน
แต่เหตุการณ์ก็กลับพลิกผัน เพราะทันทีที่ STARK ได้เงินเพิ่มทุนครบแล้ว ผู้บริหารกลับยกเลิกการซื้อขายที่ตั้งใจไว้ โดยอ้างว่า มีการเปลี่ยนแปลงใน LIONI ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสถานะทางการเงินของ STARK
เท่านั้นยังไม่พอ ถึงกำหนดส่งงบการเงิน ประจำปี 2565 STARK ไม่ยอมส่งตามกำหนด ทำให้หุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP และพักการซื้อขาย 3 เดือน ระหว่างนั้น นาย ช. ประธานบริษัท และผู้บริหารหลายคนลาออก โดย นาย ว. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นผู้รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และยอมรับว่า STARK อาจมีการฉ้อโกงทางบัญชี
ที่สุด ผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทเรียกร้องให้ STARK คืนเงินกู้ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และเมื่อเปิดการซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว ราคาหุ้นปรับลดลงถึงร้อยละ 90 ในวันเดียว
เป็นที่ยุติว่า บริษัทมีหนี้สินสำคัญ คือ หุ้นกู้ 6,700 ล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 8,600 ล้านบาท มีรายชื่อผู้ถือหุ้นทั้งบุคคลและกองทุนที่น่าเชื่อถือ มูลค่าระดับหมื่นล้าน (ขอบคุณข้อมูลจากลงทุนแมน : 8 มิถุนายน 2023)
ทั้งที่บริษัทจัดอยู่ในกลุ่ม 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่กลับพบว่า มีการทุจริต จนกระทั่งมูลค่าของหุ้นหายไปถึงร้อยละ 90
แม้ว่าในปัจจุบันจะได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นใน STARK แต่กลุ่มของนาย ช. ที่ลาออกไปก่อนแล้วไม่ยอมรับทราบข้อกล่าวหา และเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว
ทาง กลต. เปิดเผยด้วยว่ากลุ่มบุคคลที่ทุจริตได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ในบัญชีของ STARK และบริษัทย่อย ในปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ อีกทั้งมีการตกแต่งงบการเงิน
รวมทั้ง ปกปิดข้อความจริง ในข้อมูลสำคัญของตราสาร ว่าได้มีการเข้าลงทุนใน LIONI Kabel และ LIONIshe แล้ว ทั้งที่ยังเข้าลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เสร็จเรียบร้อย และยังมีการโอนเงินออกจาก STARK
และบริษัทย่อยไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อีกหลายมาตรา กับความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วย
ข่าวอื้อฉาวดังกล่าว เขย่ากระบวนการบรรษัทภิบาลของตลาดหุ้นไทยโดยตรง ส่งผลกระทบเป็นลูกคลื่นใหญ่ไปยังกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทธุรกิจ และกลุ่มบุคคลที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นลูกค้า หรือซื้อหุ้นของ STARK อย่างกว้างขวาง ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ยังเป็นบทเรียนอย่างสำคัญของวงการสอบบัญชีในระดับนานาชาติ ว่าใครเป็นสำนักงานสอบบัญชีของ STARK
ทำให้มีข่าวว่า ก.ล.ต. ได้เสนอแก้กฎหมายให้ ก.ล.ต. สามารถให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ สำนักงานสอบบัญชีได้ ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. ไม่มีอำนาจเช่นนั้น ได้แต่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตัวบุคคล อันจะเป็นเหตุให้ขึ้นบัญชีดำกับผู้ตรวจสอบได้เป็นรายบุคคล แต่ไม่อาจขึ้นบัญชีดำสำนักงานสอบบัญชีได้
กรณีของ STARK เป็นตัวอย่างของการฉ้อฉลทางบัญชี (Accounting Scandal) หากไม่รีบแก้ไข จะส่งผลสะเทือนต่อระบบบรรษัทภิบาล
จึงขอเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ปัดกวาดเช็ดถูกตลาดหุ้นให้สะอาดอย่างจริงจัง ยิ่งกว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการทุจริตอย่างร้ายแรงของภาคธุรกิจ ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ทรุดหนักยิ่งขึ้นไปอีก
หากไม่แก้ไขอย่างจริงจังก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนยากที่จะกล่าวถึงมาตรฐานธรรมาภิบาลสำหรับประเทศไทย.