Investing in Changes, Growth, and Gains
ภาวการณ์ลงทุนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในภาพรวมมีการปรับตัวลง อย่างที่เราได้เคยคาดการณ์ไว้ในบทความเดือนที่ผ่านมา
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลง เนื่องจาก 1.การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุทั้งในส่วนของ Supply ที่ออกมามากขึ้น, ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยลดลง, การคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสที่จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ และการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจากธนาคารกลางเช่นญี่ปุ่นและจีนเพื่อแทรกแซงค่าเงินตัวเองหลังจากที่มีการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
2.การทำกำไร หลังตลาดหุ้นปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือน ขณะที่การประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 และคาดการณ์ไตรมาส 3 จะยังอยู่ในช่วง low season ซึ่งเมื่อดูจากสถิติในอดีตตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 มักเป็นช่วงที่มีการปรับฐานทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงลง 3.ความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนเริ่มก่อตัวมากขึ้น ทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และความมั่นใจของผู้บริโภคที่ลดลงทำให้เกิดภาวะเงินฝืด
แม้ทางการจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ส่งผลได้มากนัก ซึ่งเราเคยพูดถึงประเด็นนี้ในบทความที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน จากสาเหตุข้างต้นทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง ซึ่งนักกลยุทธ์ของจูเลียสแบร์มองว่าการปรับตัวลงนั้นเป็นโอกาสในการทยอยเข้าลงทุนโดยยังคงเน้นในหุ้นคุณภาพดีในสหรัฐฯ มากกว่าภูมิภาคอื่นเนื่องจากการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ขณะที่เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มลดลงทำให้มองว่าเฟดมีโอกาสที่จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงข้างหน้า
อย่างไรก็ตามหนึ่งในธีมการลงทุนที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือธีม Artificial Intelligence (AI) โดยเฉพาะ Generative AI ยังคงได้รับความนิยมและเป็นกลุ่มที่ outperform ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งดัชนี Next Generation Cloud computing & AI index ซึ่งจัดทำโดยจูเลียส์แบร์ ปรับตัวขึ้นในปีนี้ถึง 62.4% (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 30 ส.ค. 2023) ราคาหุ้นของบริษัทผู้ที่ออกแบบชิปประมวลผล
โดยเฉพาะที่เรียกว่า Graphic processing unit หรือ GPUs นั้นปรับตัวขึ้นอย่างมากจากยอดคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างถล่มทลาย ซึ่งนักลงทุนอาจจะเกิดคำถามว่าธีมการลงทุนนี้ขึ้นมาเยอะเกินไป (Hype) ไปแล้วหรือไม่ และยังมีโอกาสในการลงทุนอยู่หรือไม่ ซึ่งเมื่อเรามาดูการคาดการณ์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและโกลด์แมนแซค ได้ประมาณการณ์ว่าการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI นั่นจะเพิ่มจาก 1 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2025 และอาจจะสูงถึง 2.5% ถึง 4% ของ GDP สหรัฐฯ
ดังจะเห็นได้ว่ามีจำนวนบริษัทในสหรัฐฯ กว่า 16% ได้มีการพูดถึงเทคโนโลยีนี้ในการประกาศงบการเงินไตรมาสล่าสุด ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มงบลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการณ์รายได้ของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากความต้องการลงทุนของบริษัทเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นทำให้เรายังคงมีมุมมองว่ากลุ่มนี้ยังคงน่าลงทุน ซึ่งเราจะสามารถแบ่งการลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาวจากการนำ AI เข้ามาใช้งานออกมาเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้
กลุ่มแรกคือ AI Enables and adopters กลุ่มนี้คือผู้ให้บริการที่มีการนำเครื่องมือที่มีการใช้ AI ในการช่วยเพิ่มผลผลิตหรือประสิทธิภาพการทำงานซึ่งจะสามารถเพิ่มราคาขายได้สูงขึ้น กลุ่มที่สองคือ Cloud computing provider เนื่องจากเทคโนโลยี Generative AI นั้นจะใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อผลิตผลงานซึ่งออกมาจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ เช่น บทความ ภาพและวิดิโอต่างๆ ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมากจากผู้ให้บริการ Cloud กลุ่มที่สามคือ กลุ่มผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการประมวลผล ซึ่งกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับทั้งผู้ดีไซน์ออกแบบสถาปัตย์กรรมของชิปที่เล็กลงและมีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์
อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรตระหนักว่าการตื่นตัวทางด้าน AI ในทุกภาคส่วนนั้นก็มีความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงข้างหน้า โดยเฉพาะด้านกฎหมายที่อาจจะออกมาควบคุมหรือจำกัดการใช้งาน เป็นต้น รวมถึงการที่เทคโนโลยีนี้ยังต้องใช้เวลาในการประเมินถึงศักยภาพและการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสขึ้นลงได้ตลอดเวลา ทำให้เรานักลงทุนต้องคอยติดตามและเลือกบริษัทที่มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ชนะและมีการคาดการณ์การเติบโตที่ดี ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่าน