‘ไพรเวทแบงกิ้ง’ ส่อสะเทือนภาษีเงินได้ต่างประเทศ ฝั่งกองทุนรับอานิสงส์บวก
“กองทุน” ยันเก็บภาษีคนไทยลงทุนนอก โอนกลับแม้ข้ามปี ไร้ผลกระทบเชิงลบ แต่เป็นโอกาสเหตุคู่แข่งน้อยลง จับตาเศรษฐีรายใหญ่ โยกเงินเข้ากองทุนรวมต่างประเทศ ด้าน ไพรเวทแบงกิ้ง ส่อกระทบภาษีเงินได้ต่างประเทศ
ทำเอาแตกตื่นกันทั้งวงการการลงทุน หลังกรมสรรพากรออกประกาศฉบับล่าสุด ที่เตรียมเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศ แม้ว่าผู้ลงทุนจะนำเงินได้ดังกล่าวกลับเข้ามาในปีภาษีอื่นๆ ก็ต้องนำมาคำนวณการเสียภาษีด้วย จากเดิมซึ่งจะคำนวณเฉพาะที่นำกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน
ล่าสุดมีความเห็นจากคนในแวดวงการลงทุน โดยมองว่าประกาศฉบับนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไพรเวทแบงกิ้งและนักลงทุนที่ออกไปลงทุนเองโดยตรงในหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนอุตสาหกรรมกองทุนรวมนั้นไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ประกาศของกรมสรรพากรฉบับนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม ในทางตรงข้ามอาจจะส่งผลเชิงบวกด้วย โดยเฉพาะกับกองทุนรวมต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ผลบวกที่ว่านี้จะมีมากน้อยแค่ไหนยังประเมินค่อนข้างยาก ซึ่งยังต้องติดตามดูว่า เงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศที่ออกไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเวลธ์จะโอนกลับมา และโยกมาลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในกองทุนเหล่านี้ด้วย ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน
“เรื่องภาษีเป็นแค่เพียงปัจจัยหนึ่งของการบริหารจัดการเงินลงทุนต่างประเทศของกลุ่มเวลธ์ ซึ่งยังมีปัจจัยและวัตถุประสงค์การลงทุนอื่นๆ ที่ใช้พิจารณามากขึ้นในการสร้างผลตอบแทน การเข้าออกของลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนคงไม่ได้ตัดสินใจได้ทันทีเพียงเพราะประเด็นภาษีแค่นั้น”
นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ประเด็นภาษีดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อคนที่ออกไปลงทุนโดยตรงต่างประเทศผ่านไพรเวทแบงก์กิ้ง และโบรกเกอร์ รวมถึงการลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่านแอพพิเคชั่นแบงก์ต่างๆ
ส่วนอุตสาหกรรมกองทุนรวม ไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวกลับมองว่าเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมกองทุนรวมด้วย เพราะทางเลือกการลงทุนคู่แข่งน้อยลงสำหรับเงินลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นเทรนด์ของนักลงทุนที่ไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และกองทุนรวมต่างประเทศ ไม่เสียภาษี แต่ว่า จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศมากหรือน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตาม
นอกจากนี้ เงินลงทุนเดิมที่ออกไปลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว ยังต้องติดตามเช่นกัน เพราะหากนำเงินกลับมา ต้องแสดงรายการยื่นภาษี ซึ่งการแสดงรายการยื่นภาษีจะมีแนวทางอย่างไร และเงินลงทุนตรงนี้อาจจะหมุนลงทุนในต่างประเทศไปเรื่อยๆ จะมีการติดตามกันอย่างไร
แหล่งข่าวในวงการการลงทุน กล่าวว่า ภาษีดังกล่าวกระทบนักลงทุนที่นำเงินลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะส่วนใหญ่ นิยมซื้อหุ้นต่างประเทศ ผ่านโบรกเกอร์ และแอพพลิเคชั่น รวมถึงการลงทุนโดยตรงในกองทุนมาร์สเตอร์ฟันด์ต่างประเทศ หากโอนกลับมา โดนเก็บภาษีรายได้ระดับบุคคลธรรมดา 15-35% ถือว่ากระทบเยอะ โดยเฉพาะเศรษฐีรายใหญ่ที่เคยใช้ช่องทางนี้เลี่ยงภาษี