ตลท.หนุนตลาดทุนไทยเติบโตยั่งยืน เชื่อมนักลงทุน - บลจ.เข้าถึงข้อมูล ESG
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)มีหน้าที่เชื่อมโยงนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน และเห็นคุณค่าการลงทุนในบริษัทยั่งยืน ทำให้ ตลท.สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการสัมมนา “OSP Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral” ถึงแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในตลาดทุนไทย เผยว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเทรนด์ใหญ่ในระดับโลก และเมื่อประเทศไทยเป็นหนึ่งในโกลบอลซัพพลายเชน ดังนั้นจะต้องมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก
โดย ตลท.มีเป้าหมายพัฒนายุทธศาสตร์ด้าน ESG 5 ด้าน ได้แก่
1.sustainable business พัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก
2.Sustainable investment ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืน และพัฒนาสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้อง
3.ESG infrastructure พัฒนาเครื่องมือ และยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG เพื่อการตัดสินใจลงทุน
4.ESG Education พัฒนาความรู้ และสร้างบุคลากรด้านความยั่งยืนให้ตลาดทุน SET’s internal
5.Development พัฒนาความยั่งยืนของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ
ตลท.จึงมีหน้าที่ในการเชื่อมโยงนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG และเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สามารถพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นได้ว่า การลงทุนในกลุ่มความยั่งยืนมีคุณค่าที่แท้จริง ตลท.จึงมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลด้าน ESG ที่มีความเป็นปัจจุบัน และน่าเชื่อถือ
ทำให้มีการพัฒนา“ESG Data platform”ในการเปิดเผยข้อมูลผ่าน SETSMART เพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล และเชื่อมต่อไปยังนักลงทุน เรตติ้งเอเจนซี ให้ง่ายต่อการเข้าถึง สะดวก และสามารถนำไปใช้ในการประมวลผลต่อได้ทันที
ขณะนี้มี บจ.658 บริษัท หรือคิดเป็น74% ได้อนุมัติเผยแพร่ข้อมูลผ่าน ESG Data Platform และมี บจ.อีก 343 บริษัทคิดเป็น 39% มีการเผยแพร่ข้อมูล Greenhouse Gas (GHG)โดยได้รับการทวนสอบแล้ว 185 บริษัท
รวมทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังกลายเป็นกระแสหลักในการลงทุนในตลาดทุนโลก และตลาดทุนไทยสะท้อนจากกองทุนยั่งยืนหรือกองทุน ESG ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 220% ในปี 2566 จาก 82 กองทุน เป็นมูลค่า 4.7 หมื่นล้านบาท จากปี 2560 ที่มีเพียง 20 กองทุน
และบจ.ไทยในกลุ่ม ESG มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าบริษัททั่วไป สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในบริษัทเหล่านี้เอาท์เฟอร์ฟอร์มมาตั้งแต่ปี 2559 แล้วจากดัชนี DJSI EM ในเดือนม.ค.2559 ถึง 25 ส.ค.2566ให้ผลตอบแทน 90.55% คิดเป็น 45.9% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดเมื่อเทียบกับ SET100ที่ให้ผลตอบแทน 50.79%
ทำให้ บจ.ไทยอยู่ในดัชนีความยั่งยืนมากที่สุดในอาเซียน และในระดับโลกในฐานะผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ถือเป็นการเติบโตอย่างเข้มแข็ง และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
จากดัชนี S&P Global ได้ประเมินความยั่งยืนบริษัททั่วโลก7,822 บริษัทโดยมี 710 บริษัทที่ได้รับการประกาศในThe Sustainability Yearbook 2023 ในจำนวนนี้เป็น บจ.ไทยจำนวน 37 บริษัทซึ่งมากเป็นอันดับ 5 ของโลก การประกาศยังแบ่งการจัดอันดับเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Gold, Silver, Bronze และMember โดยระดับ Gold Class มีบริษัทไทย 12 บริษัท รองมาคือ สหรัฐ 11 บริษัท ถัดมาคือ ไต้หวัน และอิตาลี 7 บริษัท
รวมทั้งบจ.ไทยถูกจัดอันดับใน FTSE4Good Index 42 บริษัทอยู่ใน MSCI 42 บริษัท และดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 26 บริษัท
ทำให้ ตลท.มุ่งส่งเสริมความยั่งยืน และการพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน และยึดหลัก “ความยั่งยืน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์