พายุที่ปลายฟ้า
ปัจจุบัน สัญญาณเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเห็นเด่นชัดขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศขนาดใหญ่ชะลอต่อเนื่อง
โดยในสหรัฐ กิจกรรมภาคบริการต่ำสุดในรอบ 8 เดือนและลดลงเร็วกว่าการผลิต บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อความต้องการของลูกค้า ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและค่าแรงที่สูงขึ้นยังส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการลดลง ธุรกิจใหม่ในภาคบริการจึงเติบโตในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2022
ขณะที่ในฝั่งยุโรป เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันได้แก่ ฝรั่งเศสและเยอรมนี กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยสำนักวิจัยของธนาคารฮัมบูร์กคอมเมอร์เชียล มองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวในไตรมาสที่ 3 ที่ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง โดยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่ลดลงในตลาดส่งออกเช่นจีน ด้านเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ดูเหมือนกำลังผ่านจุดต่ำสุดเชิงวัฐจักรและน่าจะเริ่มขยายตัวได้ดีขึ้นบ้าง แต่ระยะยาวเสี่ยงเข้าสู่ “วงจรเงินฝืด” มากขึ้น ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นเสถียรภาพมากกว่าการขยายตัว วิกฤตอสังหาฯ ที่จะลากยาว และหนี้ประชาชาติที่สูงและจำกัดการลดดอกเบี้ย
ในฝั่งสหรัฐเอง กำลังเผชิญกับ 4 จุดอ่อนเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก และทำให้ Momentum เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คือ
1. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ขณะที่ดอกเบี้ยและสภาพคล่องเข้มงวดขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบหลายสิบปี ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว ขณะที่หากราคาในปัจจุบันยังคงปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจผลักดันให้เงินเฟ้อจากราคาพลังงานกลับขึ้นไปสูงขึ้น และกดดันให้ Fed ต้องคงนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจให้ชะลอรุนแรงขึ้นได้
โดยหากพิจารณาเงินเฟ้อในองค์ประกอบหลักที่ประธาน Fed ใช้ชี้วัดแล้วนั้น พบว่า เงินเฟ้อที่เป็นองค์ประกอบด้านการผลิต (supply-side) โดยเฉพาะอาหารและพลังงานนั้น เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.88% ของเงินเฟ้อที่ 3.7% ขณะที่องค์ประกอบด้านบริการ จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านและค่าจ้างลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อที่กลับมาขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันแพงเป็นหลัก
2. สมาชิกสหภาพผู้ผลิตรถยนต์ United Auto Workers (UAW) ที่ประกอบด้วย 3 บริษัทใหญ่อันได้แก่ GM, Ford และ Stellantis NV (เจ้าของรถ 16 ยี่ห้อ เช่น Chrysler, Fiat, Jeep) กว่า 1.3 หมื่นคนนัดหยุดงาน (และอาจเพิ่มไปถึง 1.5 แสนคน) เพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างกว่า 40% ใน 4 ปีข้างหน้า และลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงเหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากกว่า 40 ชั่วโมงในปัจจุบัน ซึ่งสำนักวิจัย Bloomberg คาดว่า หากสมาชิกสหภาพ UAW ประท้วงทั้งหมด จะทำให้ Non-farm Payroll เข้าสู่แดนลบในเดือน ต.ค.
3.สภาคองเกรสสหรัฐกำลังพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว (Continuing resolution: CR) โดยสภาผู้แทนฯ ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากและวุฒิสภาสหรัฐซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก มีเวลาจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปิดหน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐ (Shutdown) ครั้งที่ 4 ในรอบ 10 ปี ซึ่งการ Shutdown เป็นไปได้สูงเนื่องจากพรรครีพับลิกันเองยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขวาจัดและประธานสภาฯ ขณะที่พรรคเดโมแครตก็ไม่พร้อมที่จะเห็นชอบร่างกฎหมาย CR เนื่องจากขัดแย้งในรายละเอียด ขณะที่สำนักวิจัยต่างๆ คาดว่า Shutdown ผ่านไป 1 สัปดาห์ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสียหาย 0.15% ของ GDP ในไตรมาสนั้น ๆ และ
4.การยกเลิกการผ่อนผันการจ่ายค่างวดหนี้เพื่อการศึกษา ที่ชาวสหรัฐกว่า 46 ล้านคน ต้องกลับมาจ่ายหลังจากรัฐบาลให้หยุดชั่วคราวในช่วง Covid (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเงินโดยเฉลี่ยกว่า 10% ของรายได้ชาวอเมริกัน) โดยใน 46 ล้านคนนั้น 30 ล้านคนเป็นประชาชนอายุ 25-49 ปี ที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เป็นไปได้สูงที่การบริโภคสหรัฐ ที่เป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP จะชะลออย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน ในส่วนของเศรษฐกิจไทย เราเริ่มเห็นแสงสว่างผ่านกลุ่มเมฆ โดยเรามองว่า มาตรการของรัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตดีท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยการคำนวณผลต่อเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาลที่สำคัญพบว่า
1.นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท/คน ที่ใช้วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น มีต้นทุนทางการคลังถึงประมาณ 2.9% GDP ขณะที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มได้ประมาณ +0.7% ของ GDP 2.นโยบายขึ้นค่าแรงและขึ้นเงินเดือนของผู้จบการศึกษาปริญญาตรีนั้น ให้ผลประมาณ 0.2-0.3% ของ GDP 3.นโยบายพักหนี้และดอกเบี้ยของเกษตรกร 3 ปี นั้น ตั้งสมมุติฐานว่าเกษตรกรนำเงิน 50% ไปใช้จ่ายต่อนั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ +0.1% ของ GDP ดังนั้น หากรวม 4 นโยบายที่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจแล้ว การคำนวณเบื้องต้นบ่งชี้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อีก +1% จากกรณีฐาน ทำให้เรามองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะขยายตัวได้ 4.1% จากปี 2023 ที่ขยายตัวได้ 2.7%
ในส่วนของการลงทุน เรามองว่า ด้วยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ตกลงมาใกล้เคียงระดับ 1,500 คาดจะเป็นจุดต่ำสุด และจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นใน ต.ค. จึงมองเป็น “โอกาสซื้อลงทุน” ในธีมที่มีปัจจัยเฉพาะตัว ดังนี้ 1. หุ้นเก็งกำไร โดยคาดราคาหุ้นจะรีบาวน์ได้หลังปรับลงแรงกว่า SET และ Valuation ไม่แพง โดยเราเลือก CPALL HMPRO CPN OSP BDMS MINT 2. หุ้นเก็งกำไรในธีมปิโตรดอลลาร์ โดยได้อานิสงส์จากกำลังซื้อของตลาดตะวันออกกลางดีขึ้นตามราคาน้ำมัน เราเลือก BH PTTEP BCP
3.หุ้นซื้อลงทุน โดยมีผลการดำเนินงานดีและยังมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง เลือก BCH HANA KCE AOT ERW ขณะที่ระยะกลางเราแนะนำระมัดระวังหุ้นที่คาดได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อภาคเกษตรลดลง ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ (GLOBAL) กลุ่มสินเชื่อ (MTC SAWAD) กลุ่มยานยนต์ (SAT STANLY) กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG) รวมถึง กลุ่มเกษตรและอาหาร (CPF GFPT)
ขอให้นักลงทุนโชคดี
- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX
- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher
#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้