ทำไม ‘น้ำมัน’ ยิ่งแพง ‘เงินบาท’ ยิ่งอ่อน ฟังนักเศรษฐศาสตร์อธิบายสาเหตุ
เปิดสาเหตุทำไมราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนหนัก ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ จ่อกระทบภาคนำเข้า-ส่งออกมากน้อยขนาดไหน ?
ช่วงที่ผ่านมา “ราคาน้ำมันดิบโลก” ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบพุ่งทะลุ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในรอบกว่า 1 ปี จากปริมาณน้ำมันที่เก็บสะสมไว้ในสหรัฐลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 9 แสนบาร์เรล
ประกอบกับราคาน้ำมันโลกยังได้รับแรงกดดันจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลกและรัสเซีย
จากปัจจัยทั้งหมดทำให้บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่าทั่วโลกน่าจะเผชิญกับสภาวะขาดแคลนน้ำมันไปจนไตรมาส 4 ของปี 2566 ซึ่งก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงอย่างหนักในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทไทยวันนี้ (30 ก.ย.) ณ เวลา 12.00 น. อยู่ที่ 36.590 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอ่อนค่าลงเกือบ 3% จากเมื่อสัปดาห์ก่อน
ทำไมน้ำมันปรับตัวขึ้นเงินบาทจึงอ่อนค่าลง ?
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็ม ให้ข้อมูลว่า ค่าเงินบาทและราคาน้ำมันโลกมีความสัมพันธ์กัน 2 สถานการณ์คือ
1. เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อสูง ดังนั้นธนาคารกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง จนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง ทั้งหมดก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้นักลงทุนไทยปิดรับความเสี่ยงจากตลาดหุ้นเช่นเดียวกัน จึงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามไป
2. ไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ดังนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่าเราต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าน้ำมันในราคาสูงขึ้น
จากปัจจัยข้างต้นจึงส่งผลต่อเนื่องให้มูลค่าการนำเข้าของประเทศไทยขยายตัวในขณะที่การส่งออกอาจจะอยู่ในปริมาณเท่าเดิม จึงนำไปสู่การขาดดุลทางการค้า
ประกอบกับอาจต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ประกอบด้วยเม็ดเงินจากดุลการค้าและดุลบริการที่มาจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งยังอยู่ในสภาวะฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ทั้งหมดจึงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นเดียวกัน
ขณะที่ นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กสิกรไทยให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 ไทยนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 59,861.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 36,666.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดังนั้นหากปริมาณการส่งออกเท่าเดิมแต่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันที่ราคาแพงขึ้นก็จะทำให้ขาดดุลทางการค้าและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งสอดคล้องกับที่ดร.จิติพลให้ความคิดเห็นไว้ข้างต้น
“ขาดดุลทางการค้า” เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?
ก่อนอื่น การขาดดุลทางการค้า (Trade Deficit) จะเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าของการนำเข้าของประเทศหนึ่งๆ มากกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งสำหรับกรณีประเทศไทย หากตัวแปรทั้งหมดเหมือนเดิมแต่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
นั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นดอลลาร์เพื่อซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ทั้งหมดจึงทำให้เม็ดเงินที่ใช้ไปกับการนำเข้าสูงกว่าส่งออกและส่งผลต่อเนื่องให้ขาดดุลทางการค้า
โดยนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นว่า
การขาดดุลทางการค้ามองได้ 2 ลักษณะคือหากขาดดุลเพราะรัฐบาลนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ นั้นนับเป็นเรื่องดีเพราะจะมีผลตอบแทนและการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลขาดดุลทางการค้าเนื่องจากมูลค่าการนำเข้ามากกว่าการส่งออก ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นผลเชิงลบกับรัฐบาล
“ให้ลองเปรียบเทียบว่าประเทศเป็นบริษัทเอกชน หากบริษัทนี้เกินดุลการค้าหมายความว่ามีกำไรเพราะมียอดขายมากกว่าต้นทุน แต่หากบริษัทนี้ขาดดุลทางการค้าหมายความว่าไม่มีกำไร เพราะยอดขายน้อยกว่าต้นทุน ดังนั้นก็อาจจำเป็นต้องไปกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายกันในองค์กร ซึ่งก็นับเป็นภาระของบริษัท
โดยถ้าพูดในบริบทของประเทศไทย สถานการณ์การขาดดุลทางการค้าเช่นนี้จึงนับเป็นภาระหนักทางการคลังที่จะต้องไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย และจะทำให้เงินบาทไทยมีค่าน้อยลงตามไป”
ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทน่ากังวลหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม นายบุรินทร์ ระบุเพิ่มเติมว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงช่วงนี้ไม่น่ากังวลมากนัก เพียงแต่เมื่อค่าเงินผันผวนเช่นนี้ก็ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศต้องหยุดชะงักลงเพราะไม่มั่นใจว่าต้องซื้อขายกับคู่ค้าด้วยค่าเงินเท่าใด
โดยสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันยังมีหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศน้อย ไม่เหมือนช่วงต้นยำกุ้ง ดังนั้นประเด็นเรื่องการอ่อนค่าลงของเงินบาทจึงยังไม่น่ากังวล
อ้างอิง